ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จันทราทิตย์ ได้เข้าศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจุลชีววิทยา ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงปี พ.ศ. 2530 - 2534 ตลอดระยะเวลาการศึกษา ได้เรียนรู้และฝึกฝนวิชาพื้นฐานในคณะวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาร่วมระหว่างหลักสูตรจุลชีววิทยาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิทยาศาสตร์หลายวิชาที่สำคัญ ได้แก่ Cell Biology, Microbiology, Immunology, Biochemistry, Advanced Immunology และ Bacterial Genetics การทำวิทยานิพนธ์เป็นไปได้อย่างดียิ่ง ได้รับการดูแลและคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กวี รัตนบรรณางกูร และรุ่นพี่ ศาสตราจารย์ ดร.ลีรา กิตติกูล โดยทำงานวิจัยในห้องปฏิบัติการ Pr. 601 และห้องปฏิบัติการของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และต่อมาสำเร็จการศึกษาสูงสุดในหลักสูตร ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (อายุรศาสตรเขตร้อน) มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันท่านเป็น อาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และ mentor นักวิจัยรุ่นใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัยทุนในประเทศและต่างประเทศ หลายโครงการ โดยปฏิบัติงานด้านการสอนและวิจัยที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อีกทั้งท่านยังได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญอีกหลายตำแหน่ง เช่น ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ด้านกิจกรรมหรือประโยชน์ที่เคยทำให้แก่คณะวิทยาศาสตร์ฯ หลังจากจบการศึกษาแล้ว
ในช่วงหนึ่งเคยไปรับการ training กับ ศาสตราจารย์ ดร.ศุขธิดา อุบล ที่คณะวิทยาศาสตร์และทำวิจัยร่วมกับอาจารย์อื่น ๆ ในคณะวิทยาศาสตร์ เช่น รองศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ และ ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อุทัยสินธุเจริญ โดยได้ช่วยทดสอบประสิทธิภาพของ nanoparticle ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและแชร์เทคนิคต่าง ๆ รวมถึงตัวอย่าง และน้ำยาวิทยาศาสตร์เพื่อทำวิจัย เช่น monoclonal antibodies ทำให้มีผลงานวิจัยร่วมกันหลายชิ้น ในฐานะสมาชิกสภาคณาจารย์ ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จันทราทิตย์ ได้ร่วมกับสภาอาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์จัดเสวนาทางวิชาการหลายครั้ง โดยเป็นวิทยากรที่แชร์ประสบการณ์การเป็นอนุกรรมการกลั่นกรองตำแหน่งทางวิชาการ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินผลงานวิจัยของอาจารย์หลายท่านในคณะวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพผลงานวิจัย มีบทบาทในการประเมินจริยธรรมและผลงานทางวิชาการของผู้ขอตำแหน่งวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์
ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จันทราทิตย์ ได้ร่วมกิจกรรม University Council Visit ที่คณะวิทยาศาสตร์ทุกครั้ง และได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของบุคลากรที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการสูงและพัฒนาการของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยและของโลก ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง
ด้านคุณประโยชน์ที่เคยทำให้แก่ประเทศไทยหรือในระดับนานาชาติ
ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จันทราทิตย์ ได้ทุ่มเททำงานในสายวิชาชีพอาจารย์ นักวิจัย และบริการวิชาการมากว่า 30 ปี ส่งผลให้สร้างองค์ความรู้ที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งในระดับประเทศและนานาชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโรคติดเชื้อในเขตร้อน เช่น โรคเมลิออยโดสิส และ COVID-19 โรคเมลิออยโดสิสเป็นโรคที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในภูมิภาคเขตร้อน หนึ่งในผลงานที่สำคัญของศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จันทราทิตย์ คือการทำวิจัยและประดิษฐ์ชุดตรวจโรคเมลิออยโดสิส ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาและนำไปสู่ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย ท่านได้สร้างศูนย์กลางการวิจัยด้านโรคเมลิออยโดสิสในประเทศไทยและมีผลงานวิจัยกว่า 200 เรื่อง ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญเป็นบรรณาธิการวารสาร Scientific Reports และวารสารชั้นนำอื่น ๆ รวมถึงเป็นผู้ตรวจพิจารณางานวิชาการ (reviewer) ให้กับงานวิจัยหลากหลาย และได้รับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาด้านการวิจัย ซึ่งแสดงถึงความเชี่ยวชาญและความน่าเชื่อถือในวงการวิชาการ
ในฐานะวิทยากร ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา ได้แสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งให้ความรู้ในที่ประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง การให้ความรู้และช่วยเหลือชุมชนของท่านได้เสริมสร้างความเข้าใจและการรับมือกับโรคติดเชื้อในเขตร้อนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ท่านยังได้สร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการสร้างโอกาสให้แก่นักศึกษาและนักวิจัยในการเข้ามาทำวิจัยและพัฒนาความรู้ในระดับนานาชาติ ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา ยังได้สร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติและสานต่อความร่วมมือนี้ให้ยั่งยืน ส่งผลให้นักศึกษาและนักวิชาการจากไทยและต่างประเทศมาทำวิจัยร่วมกันอย่างต่อเนื่องทุกปีท่านได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากต่างประเทศหลายครั้งจากหลายแหล่งทุน เช่น Wellcome Trust ประเทศสหราชอาณาจักร, Defense Threat Reduction Agency (DTRA) และ National Institute of Health ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงรางวัลนวัตกรรมจากต่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและการยอมรับในระดับนานาชาติด้วยความมุ่งมั่นและการอุทิศตนเพื่อการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จึงเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการและสังคมอย่างแท้จริง ผลงานและความสำเร็จของท่านไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อวงการวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ
ด้วยเกียรติประวัติอันทรงคุณค่า ผลงานที่ดีเด่น และคุณูปการต่อคณะฯ และต่อประเทศชาติ ในด้านวิทยาศาสตร์ อย่างต่อเนื่อง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จันทราทิตย์ เป็นศิษย์เก่าดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2567