logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2558

 

เสวนา Science Cafe
เรื่อง "Avermectin และ Artemisinin สำคัญอย่างไร จึงได้โนเบล"

ตอนที่ 1

ตอนที่ 2

ตอนที่ 3

ตอนที่ 4

รายการเสวนาพิเศษ Science Café วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้หยิบประเด็นร้อนในวงการวิทยาศาสตร์เมื่อ คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ประกาศมอบ รางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ประจำปี 2015 ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาวิจัยเพื่อยับยั้งการติดเชื้อจากกลุ่มปรสิตที่ก่อให้เกิดโรคและการค้นพบยารักษาโรคมาลาเรีย จึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นภายใต้หัวข้อ "Avermectin และ Artemisinin สำคัญอย่างไร จึงได้รางวัลโนเบล" โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรรับเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร ผู้กฤตยาคามี จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย พ.ศ. 2557 และ ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี จากภาควิชาเคมี เป็นพิธีกรรับเชิญ

ในช่วงต้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้อธิบายถึงที่มาของการค้นคว้ายารักษาโรคมาลาเรียครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน ซึ่งมีความน่าสนใจมากเมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศจีนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ที่มีความสัมพันธ์กับวิทยาการทางการแพทย์โบราณ โดยตำราสมุนไพรจีนอายุมากกว่าสองพันปีได้ระบุถึงคุณสมบัติของ ชิงเฮา ที่สามารถรักษาอาการไข้หรือโรคมาลาเรียในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการค้นคว้าอย่างจริงจังในการสกัดจนได้ยา Artemisinin ที่สามารถยับยั้งโรคมาลาเรียได้สำเร็จ

ศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร ผู้กฤตยาคามี จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้อธิบายเสริมว่าแท้จริงแล้ว Prof. Tu Youyou สามารถสกัดยา Artemisinin ได้ตั้งแต่ ค.ศ. 1970 ซึ่งพบว่ามีคุณสมบัติที่ดีที่สุดในการฆ่าเชื้อมาลาเรียทุกชนิด และแทบไม่มีผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับ ควินิน ที่เคยใช้มาแต่อดีต การวิจัยเพื่อพัฒนายาชนิดนี้ยังคงดำเนินการเรื่อยมาแต่ประสบปัญหาเรื่องการยอมรับจากกลุ่มประเทศยุโรปเนื่องจากกระบวนการผลิตยังไม่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งประเทศจีนต้องใช้เวลานานถึง 9 ปี ในการปรับและพัฒนาจนได้รับการยอมรับจาก WHO ในที่สุด

ปิดท้ายที่ ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ได้กล่าวชื่นชม Prof. Tu Youyou ว่าเป็นสุภาพสตรีที่มีความเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่น ได้รับการขนานนามว่า "three noes" winner คือ no medical degree, no PhD และ never work overseas แต่ถึงกระนั้นก็ยังสามารถทำการค้นคว้าจนประสบความสำเร็จ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดท่านจึงเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของประเทศจีนที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ขณะที่ Prof. Satoshi Omura ผู้ได้รับรางวัลอีกท่านหนึ่งก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทในสาขา Science Education แต่ท่านตั้งใจศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องจนมีผลงานมากมาย ทำให้สามารถดำเนินการขอวุฒิปริญญาเอกจาก Tokyo University ได้ถึงสองสาขาคือสาขา Pharmaceutical Science และ Chemistry และได้ผลิตผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวาสารวิชาการมากกว่า 1,200 เรื่อง

งานเสวนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงหน่วยงานภายนอก สำหรับกิจกรรม Science Café โดย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเป็นประจำในวาระสำคัญต่างๆ ที่เป็นประเด็นสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เข้าร่วมงานเสวนา สามารถติดตามข่าวสารได้ทางเว็บไซต์คณะวิทยาศาสตร์ www.sc.mahidol.ac.th

: : โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ : :

: : ข่าวจาก Facebook Fanpage ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ : :

: : สรุปผลประเมิน กิจกรรม Science Cafe เรื่อง Avermectin และ Artemisinin สำคัญอย่างไร จึงได้รางวัลโนเบล : :

ถ่ายภาพ : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช และภาพบางส่วนจากทีมช่างภาพ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
เขียนข่าว : นายอภิชัย อารยะเจริญชัย
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวเฉิดฉันทร์ ราชบุรณะ