คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัย โดยในวันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2562 สัมมนาวิชาการ SSSV2019 และในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2562 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยโอซาก้า ร่วมจัดสัมมนาทางวิชาการ The 1st MU-OU Joint Symposium Innovative Biotechnology: The Leading Edge for Sustainability ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ห้อง ประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นจำนวนไม่น้อย
ในสัมมนาร่วมทางวิชาการครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 2 มหาวิทยาลัยร่วมนำเสนอและอภิปรายผลการวิจัยในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อความยั่งยืนโดย ทั้งหมด 9 หัวข้อ อาทิเช่น เทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวกับจุลินทรีย์และเอนไซม์ (Microbial and Enzyme Biotechnology) ประกอบด้วยการนำเสนอโดยนักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ เช่น "Yeast: an excellent biotechnological tool for green energy and environment" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ เอื้อสุขอารี หัวข้อ "BTEX-degrading Microbacterium esteraromaticum SBS1-7: its discovery and potential application" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญารัตน์ พงศ์ทรางกูร หัวข้อ "Mechanistic insights on snake venom-neurotransmitter interaction" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ และ หัวข้อ "Thinking outside the cell: in vitro reconstitution of artificial metabolic pathway" โดย Assoc. Prof. Kohsuke Honda อาจารย์จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า
ส่วนช่วงที่ 2 เป็นเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพเกี่ยวกับพืช (Plant Biotechnology) เช่น หัวข้อ "Production of heterologous protein for human health using plant cells" โดย Prof. Kazuhito Fujiyama และ หัวข้อ "Plant allergens, cross-reactivity, and immunotherapy: Asia perspective" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล
ปิดท้ายด้วยช่วงที่ 3 ที่เป็นเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพเกี่ยวกับเซลล์สัตว์ (Animal Cell Technology) ซึ่งมีหัวข้อ "Regulation of glycan structure by alteration of gene expression and culture condition" โดย Assoc. Prof. Ryo Misaki จาก Osaka University และ Creation of patient-specific disease models and application of 3D tissue culture as a platform for drug discovery" โดย ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ รวมถึงหัวข้อ "Cell manufacturing for iPS cells" โดย Prof.Masahiro Kino-oka จากนั้นนักวิจัยทั้งสองมหาวิทยาลัยร่วมหารือถึงความร่วมมือทางวิชาการในอนาคตต่อไป
สำหรับงาน SSSV2019 มีการนำเสนอผลงานนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยโอซาก้าและมหาวิทยาลัยดังของไทย ได้แก่ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นการปลูกฝังความเป็นนักวิจัยมืออาชีพให้กับนักศึกษา ต่อไป
ภาพกิจกรรม : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เขียนข่าว: สื่อสารองค์กร
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม