เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมกมลพร โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ศาสตราจารย์ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ สังกัดภาควิชาสรีรวิทยา และหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. ประจำปี 2557 และ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ สังกัดภาควิชาสรีรวิทยา และหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2557 ได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการด้านแคลเซียมและกระดูกภายใต้หัวข้อ "Multidisciplinary research on calcium and bone physiology: basic science and translation" โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และมหาวิทยาลัยมหิดล
ในช่วงเช้าศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวเปิดการประชุมและปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง "ทิศทางการให้ทุนของ สกว. : บทบาทของศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและเมธีวิจัยอาวุโส สกว." โดยเน้นย้ำว่า "สกว. สร้างกลุ่มวิจัย นักวิจัยรุ่นต่างๆ รวมทั้งนักศึกษา เพื่อความร่วมมือในการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ โดยการนำองค์ความรู้เดิมไปใช้ทำประโยชน์ในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงสร้างองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ประเทศและนานาชาติ" และรองศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสกว. บรรยายเรื่อง "ความสำคัญของการจัดทำ Strategic Research Issue(SRI) ของฝ่ายวิชาการ สกว." ซึ่งได้อธิบายว่า "สกว.ได้จัดทำ SRI เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดประเด็นวิจัยให้กับนักวิจัยรุ่นต่างๆ ซึ่งจะช่วยดำเนินงานวิจัยให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาของประเทศ" หลังจากนั้นศาสตราจารย์ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ได้สรุปภาพรวม โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีแคลเซียมและคอลลาเจนสูงว่า "การวิจัยในครั้งนี้เริ่มต้นจากสิ่งที่เกิดจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน และนำมาต่อยอดเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังเช่น การนำเกล็ดปลายี่สกที่เหลือจากอุตสาหกรรมอาหารมาวิเคราะห์จนรู้ว่ามีปริมาณแคลเซียมเป็นองค์ประกอบไม่แตกต่างจากเปลือกไข่ ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการวิจัยและทดสอบในห้องทดลองอย่างเข้มข้น เพื่อที่จะได้จดสิทธิบัตรภายในประเทศในไม่ช้า และในอนาคตเราจะได้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผลิตโดยคนไทยและมีมาตรฐานไม่แพ้นานาชาติ" ทางด้านศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ได้สรุปภาพรวม โครงการวิจัยบูรณาการด้านเมแทบอลิซึ่มของแคลเซียมและการศึกษาโครงสร้างของกระดูกว่า "โครงการนี้ศึกษาในระดับพื้นฐานตั้งแต่องค์ประกอบของกระดูก โรค Osteoporosis หรือโรคกระดูกพรุน และช่วงวัยต่างๆที่มีผลต่อการดูดซึมแคลเซียม ซึ่งตอนนี้เราทราบมาว่าร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ 15-20% จากอาหารที่รับประทานเข้าไป และจากคำแนะนำที่ว่าคนไทยควรบริโภคแคลเซียมไม่ต่ำกว่า 800 มิลลิกรัมต่อวัน แต่คนไทยบริโภคได้เพียงแค่ครึ่งเดียว ซึ่งกำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าถ้าบริโภคแบบนี้ไปเรื่อยๆจะส่งผลในระยะเวลาเท่าใดก่อนจะเกิดอาการเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ยังพบว่าPeak Bone Mass(PBM) หรือปริมาณมวลกระดูกสูงสุดจะเกิดขึ้นในช่วงวัยหนุ่มสาวโดยค่านี้จะลดลงหลังจากเลยวัยดังกล่าวไปแล้ว การออกกำลังกายหรือเสริมแคลเซียมเข้าไปไม่ทำให้เพิ่มค่านี้ได้ แต่ละคนมีไม่เท่ากันเนื่องจากเป็นผลมาจากพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเปรียบเทียบได้กับการเก็บสะสมเงินในธนาคารก่อนเกษียณอายุการทำงาน นั่นหมายความว่าเรากำลังจะเพิ่มต้นทุนแคลเซียมตั้งแต่การอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งคงต้องศึกษาค้นคว้างานวิจัยเพิ่มเติมและต้องขอความร่วมมือจากนักวิจัยทุกท่านเพื่อที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี"
หลังจากนั้นแขกในงานได้ถ่ายภาพร่วมกันก่อนที่จะพักรับประทานอาหารว่าง และเข้าสู่ช่วงการบรรยายทางวิชาการโดย Professor Karl Kulzelmann และ Dr.Jiraporn Ousingsawat จาก University of Regensburg, Germany ซึ่งทุกคนก็ได้นั่งฟังและสอบถามข้อสงสัย นอกจากนี้ในช่วงบ่ายยังมีการบรรยายทางวิชาการทางด้านต่างๆ อาทิ ด้านเกษตรและอาหารโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ละเอียด นาคกระแสร์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ วงศ์ดี เมธีวิจัยสกว. คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ด้านวัสดุศาสตร์โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรพัฒน์ ผลอัน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และด้านอุตสาหกรรมโดยดร.ปาหนัน สุนทรศารทูล ศูนย์นวัตกรรม บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ ซึ่งงานนี้นอกจากจะได้เป็นการนำเสนอความคืบหน้าของโครงการวิจัยแล้วยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการเพื่อพัฒนางานวิจัยให้ก้าวหน้าต่อไปและพัฒนาประเทศตามวัตถุประสงค์ของงานประชุมวิชาการในครั้งนี