logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2554

 

งานแถลงข่าว การจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 37 (วทท 37)
ภายใต้แนวคิด "วิทยาศาสตร์สร้างสรรค์ เพื่อสรรค์สร้างอนาคต" ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2554

กำหนดการแถลงข่าว
นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม. มหิดล พบ "กล้วยนาคราช" กล้วยชนิดใหม่ของโลก

วันที่ 26 กันยายน 2554 เวลา 14.00 น. ณ ห้องโลตัสสวีท 5-6 ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร  สวัสดิวัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ส.ว.ท.) และ ศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์  มงคลสุข คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงานแถลงข่าว  การจัดการระชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 37(วทท 37) ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์สร้างสรรค์ เพื่อสรรค์สร้างอนาคต” ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2554 นี้ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในวันพิธีเปิด ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร  สวัสดิวัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า การจัดงาน วทท 37  ในปีนี้ตรงกับวาระพิเศษหลายเรื่อง ประการแรก เนื่องจากปี ค.ศ. 2011 ได้รับการประกาศให้เป็น “ปีสากลแห่งเคมี” (The International Year of Chemistry 2011: IYC 2011) โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) และสหพันธ์เคมีบริสุทธิ์และประยุกต์สากล (the International Union of Pure and Applied Chemistry: IUPAC) ภายใต้แนวคิด “เคมี - ชีวิตเรา อนาคตเรา” (Chemistry—our life, our future) เนื่องจากเป็นวาระของการครบรอบ 100 ปีของสหภาพสมาคมเคมีสากล ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่ได้ช่วยให้เกิดความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ รวมทั้ง การครบรอบ 100 ปีที่มาดามมารี กูรี (Marie Curie) ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเคมี (เมื่อปี ค.ศ. 1911) จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ฉลองการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ทั่วโลกได้ร่วมฉลองความสำเร็จของศาสตร์ทางด้านเคมี และการเข้ามายกระดับความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติให้ดีขึ้น ดังนั้น ทางสมาคมฯ และคณะวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้เรียนเชิญ Prof. Dr. Robert Huber นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี (ปี ค.ศ. 1988) มาบรรยายพิเศษเรื่อง “โครงสร้างสุนทรีย์ของโปรตีน” (Beauty and Function of Proteins, the Building Blocks of Life, as the Focus of Basic and Applied Research) ผลงานที่ทำให้ได้รางวัลโนเบล คือ การหาโครงสร้าง 3 มิติของศูนย์กลางปฏิกิริยาการสังเคราะห์แสงของไซยาโนแบคทีเรียได้สำเร็จ  ซึ่งภายหลังได้นำความรู้นี้มาต่อยอด โดยใช้เทคนิคการเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์ เพื่อศึกษาให้เข้าใจถึงโครงสร้างโปรตีนของร่างกายมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น  นอกจากนี้ Prof. Robert Huber ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของยุวชนรุ่นหลัง ในวัยเด็ก Prof. Huber ต้องเผชิญกับความยากลำบากของสงคราม อยู่ในภาวะที่ต้องแบ่งปันอาหารและหลบภัยสงคราม อีกทั้งต้องหยุดเรียนเพราะไม่มีโรงเรียนเปิดสอนในช่วงนั้น แต่ยังมุ่งมั่นศึกษาหาความรู้จนประสบความสำเร็จเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงช่วยสร้างผลงานอันเป็นที่ยอมรับระดับโลก และทำประโยชน์อเนกอนันต์ให้กับมนุษยชาติได้ ในวาระพิเศษเช่นนี้ คณะกรรมการจัดงาน วทท 37 จึงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งเสริมให้สาธารณชนทั่วไปและเยาวชนได้เห็นความสำคัญของเคมีและวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น นอกจากการบรรยายพิเศษโดยนักวิทยาศาสตร์ รางวัลโนเบลแล้ว ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวไทย อาทิ Prof. Dr. Jörg Hacker อธิการบดี German National Academy of Science บรรยายพิเศษ เรื่อง “งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของโรคติดเชื้อ ในศตวรรษที่ 21”  การบรรยายเรื่อง “วิทยาศาสตร์สร้างสรรค์เพื่ออนาคต ศาสตร์แห่งจักรวาล โลก และท้องถิ่น” โดย ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นสาขาเคมี พ.ศ. 2527 และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการบรรยายพิเศษของผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ ปี 2554 คือ ศาสตราจารย์ ดร. สุทธวัฒน์ เบญจกุล ในหัวข้อที่เกี่ยวกับการรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่สำคัญของประเทศไทย  ซึ่ง วิทยากรทั้ง 4 ท่าน จะบรรยายหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 10 ตุลาคม 2554

ในงาน วทท 37 นี้ ยังเป็นที่รวมของแหล่งความรู้จากนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับชาติ ในหลากหลายสาขา ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า “เพื่อตอบโจทย์ความสนใจของสาธารณชนในเรื่องที่กระทบกับชีวิต สุขภาพ เศรษฐกิจ และความอยู่ดีมีสุข ของประชาชน เราได้ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ครอบคลุมกว่า 16 สาขา” ได้แก่ สาขาด้าน คณิตศาสตร์ ไอที สถิติ  ฟิสิกส์ วัสดุศาสตร์ เคมี  ชีวเคมี วิทยาศาสตร์การแพทย์ จุลชีววิทยา ชีววิทยา พฤกษศาสตร์  เกษตร วาริชศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และสาขาการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป็นต้น โดยมีการนำเสนอผลงานความก้าวหน้ากว่า 500 เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ผลงานเรื่อง จากอณูสู่ดวงดาว อีโคไลสายพันธุ์เกเร ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อมนุษยชาติ รักษ์โลกด้วยเทคโนโลยีสาหร่าย การผลิตยาด้วยนาโนเทคโนโลยี สมุนไพรยุคก้าวหน้า และอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่ประชาคมอาเซียน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้จัดปาฐกถา ศาสตราจารย์สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 19 เรื่อง “วิสัชนาวัณโรค” โดย Dr. Peter Small รองผู้อำนวยการโครงการ Global Health มูลนิธิบิลล์ และเมลินดา เกตส์ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเชื้อวัณโรคดื้อยา มาให้บรรยายในวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ด้วย ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า วาระสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้งาน วทท 37 ปีนี้ มีความพิเศษมากกว่าทุกปี คือในปี 2554 นี้ถือเป็นปีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 84 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อันเป็นที่เคารพเทิดทูนยิ่งของปวงชนชาวไทย ทางคณะกรรมการฯ จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมจัดนิทรรศการ “เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” ภายใต้แนวคิด “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” นิทรรศการดังกล่าว นอกจากจะเปิดให้มีการลงนามถวายพระพรแล้ว ยังได้แสดงให้เห็นถึง พระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระองค์ท่าน ในการใช้สร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ อันนำมาซึ่งประโยชน์สุขอย่างใหญ่หลวงแก่อาณาประชาราษฎร์  อีกทั้งยังทรงเป็นต้นแบบ ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่างๆ อันนำมาซึ่งสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ร่วมแสดงผลงาน ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ตามรอยพระราชดำริ ในโครงการต่างๆ โดยแสดงผลงานที่บุคลากรของคณะฯ ไปร่วมวิจัยกับโครงการในพระราชดำริฯ มูลนิธิโครงการหลวง และโครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในงานนี้จะมีการจัดแสดง “กล้วยนาคราช - กล้วยชนิดใหม่ของโลก” ที่ค้นพบในประเทศไทย แสดงผลงานอันเนื่องมาจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เรื่อง “นานาสารพันกล้วย” โดยจัดแสดงพันธุ์กล้วยแปลกกว่า 20 พันธุ์จากทั่วประเทศ และยังได้มีการส่งเสริมการปลูกกล้วย โดยจะแจกหน่อกล้วยหอมทองพันธุ์ดี วันละ 100 หน่อ ให้แก่ผู้มาเยี่ยมชมนิทรรศการฯ ตลอดวันงานทั้ง 3 วัน ภายในงานยังได้จัด ให้มีส่วนของการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ เทคโนโลยีความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากบริษัทเอกชนผู้นำด้านนวัตกรรมที่มีชื่อเสียง สถาบันการศึกษา และองค์กรสำคัญต่างๆ ที่จะนำผลงานมาจัดแสดง ดังนั้นผู้เข้าร่วมงาน จะได้รับ ทั้งความรู้ และประโยชน์มากมายจากการมาร่วมงานนี้”