คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สื่อสารความรู้สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง จัดงานเสวนาพิเศษ Nobel Prize Science Café Vol.2 ตอน “มหัศจรรย์การปรับแก้สารพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิต” อธิบายผลงานของ ศาสตราจารย์ เอ็มมานูเอล ชาร์เพนทิเยร์ (Emmanuelle Charpentier) และ ศาสตราจารย์ เจนนิเฟอร์ เดาด์นา (Jennifer A. Doudna) 2 นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นและพัฒนา “กรรไกรพันธุกรรม” (Genetic Scissors) เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมด้วยเทคนิค "คริสเปอร์-แคสไนน์" (CRISPR-Cas9) ซึ่งเป็นการปฏิวัติวงการชีววิทยาศาสตร์ และยกระดับขีดความสามารถของมนุษย์ในการสร้างสรรค์ระดับจีโนมไปอีกก้าว เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเคมี ปี 2020 สร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักต่อบทบาทและความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดนยา ปโกฏิประภา อาจารย์ ดร.สิทธินันท์ ชนะรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี และ อาจารย์ ดร.ธวัชชัย ชัยจรัสพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของ CRISPR-Cas9 กับการปรับแก้สารพันธุกรรมที่สร้างประโยชน์นานัปการต่อการศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ ก้าวสำคัญที่นำวงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ไปอีกขั้น ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพล วงศ์ตระกูลเกตุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เวลา 11:00 – 12:00 น. ณ ห้องประชุม K102 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท พร้อมถ่ายทอดสดทาง https://www.facebook.com/MahidolSC อีกด้วย
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
เขียนข่าว: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ภาพกิจกรรม: นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม