21 ตุลาคม 2563 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฉลองครบรอบ 62 ปี การก่อตั้ง ในงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ ประกาศผลรางวัล "Mahidol Science Communicator Award" เพื่อเชิดชูและส่งเสริมองค์กร กลุ่มคนรุ่นใหม่ และบุคคลผู้มีศรัทธาในการสร้างสังคมที่ตื่นรู้ด้วยวิทยาศาสตร์ สร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีเป็นประธานมอบโล่เกียรติยศแก่ผู้ได้รับรางวัลประเภท Science Communicator Award for Organization, Rising Star Science Communicator Award และ Science Communicator Award และคุณกลอยตา ณ ถลาง รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนเงินรางวัลให้แก่ Rising Star Science Communicator Award และ Science Communicator Award รางวัลละ 10,000 บาท
รางวัลประเภทองค์กรสื่อสารวิทยาศาสตร์ Science Communicator Award for Organization นั้น มอบให้หน่วยงานที่สื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง มีผลงานเด่นด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนและสร้างผลกระทบที่ดีสู่สังคม โดยไม่ได้มีการแบ่งลำดับ ได้แก่
NARIT---จุดประกายสังคมอุดมวิทย์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT องค์กรมหาชน สร้างการรับรู้ ความเข้าใจด้านดาราศาสตร์สู่สังคมไทย เน้นการนำเนื้อหาดาราศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง มาเผยแพร่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย มีวิธีการนำเสนอผ่านช่องที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook Twitter อุทยานการเรียนรู้ ค่ายเยาวชน โครงการหรือกิจกรรมดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียน และผู้ที่สนใจ ฯลฯ
สวทช---วิทย์รับใช้ประชาชน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือ NSTDA หน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ให้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ด้วยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานวิจัยและให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องจากทั้งในและต่างประเทศสู่สังคม อาทิ ผลิต Infographic podcast รวมถึงเกม XVolution ที่สอดแทรกการเรียนรู้และวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต นิตยสารออนไลน์ หนังสือ และเอกสารเผยแพร่ต่าง ๆ เป็นต้น
อพวช---ตื่นรู้วิทย์ ใกล้ชิดประชาชน
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาและจัดการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องง่าย และน่าสนใจสำหรับประชาชน รวมทั้งเติมความสนุกสนาน เพลิดเพลินในเรื่องราววิทยาศาสตร์ สอดแทรกให้เห็นถึงประโยชน์ของงานวิจัยและผลกระทบทางวิทยาศาสตร์ที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของ อพวช. มีทั้งหมด 5 พิพิธภัณฑ์ คือ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. และพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า
รางวัลประเภทนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดาวรุ่ง Rising Star Science Communicator Award เป็นรางวัลสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีผลงานการสื่อสารวิทยาศาสตร์ชัดเจน ถูกต้อง ต่อเนื่อง และมีคุณธรรมจริยธรรม มอบให้กับ Facebook Page: เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัวเคมีฟิสิกส์ ซึ่งริเริ่มโดย คุณวิโรจน์ สารการโกศล ที่มีแนวคิดในการสื่อสารให้วิทย์ย่อยง่าย เรียนได้ทุกที่ เพื่อให้วิทยาศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่สามารถเรียนได้ตามสถานที่ทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียน หรือห้องปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์
และรางวัลประเภทนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ Science Communicator Award มอบให้กับบุคคลที่มีผลงานการสื่อสารวิทยาศาสตร์ชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ สร้างสรรค์ และมีคุณธรรมจริยธรรม ได้แก่ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ จากความรักและสนใจการดูเมฆ การสังเกตปรากฏการณ์ทางลมฟ้าอากาศ และสนใจศิลปะการพับกระดาษโอริงามิ (Origami) รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชนเป็นพิเศษ โดยเล่าวิทย์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงวิเคราะห์ข่าวที่มีแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน สนุก มีสาระ สร้างแรงบันดาลใจ ตามระดับความยากง่ายที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยให้เครดิตกับแหล่งที่มาของข้อมูล ภาพ คลิป และอื่น ๆ อย่างเหมาะสม
นอกจากนั้น ในงานยังมีการมอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2563 แก่ 3 ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือวิชาชีพ และทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ มีคุณงามความดีเป็นที่ยอมรับในสังคม ได้แก่
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์นักวิจัยด้านเซลล์และยีนบำบัดในโรคมะเร็งและโรคพันธุกรรม ผู้มีปณิธานที่ยึดถือในการทำงาน คิดให้ไกล คิดให้ใหญ่ ทำให้สำเร็จทีละขั้น และสร้างเครือข่าย มุ่งมั่นอุทิศตนทำงานวิจัย และแนวคิดในการพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์ โดยจะสร้างกลุ่มวิจัยเพิ่มขึ้นระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตลอดจนสร้างเครือข่ายไปสู่ย่านนวัตกรรมทางการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovative District YMID) และต่างประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน เป็นต้น
ศาสตราจารย์วิจัย ดร.เจตสุมน (สัตตบงกช) ประจำศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าหน่วยวิจัยมหิดลไวแวกซ์ ศูนย์การวิจัยมาลาเรีย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นทั้งอาจารย์และนักวิจัยที่ให้เวลากับนักวิจัยรุ่นใหม่และนักศึกษา ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัยด้านต่าง ๆ ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนในการสร้างผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อคนไทยและต่างชาติ เป็นผู้ที่มีความร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับไข้มาลาเรียเป็นอย่างดีมาอย่างยาวนานกว่า 25 ปี
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นักวิทยาศาสตร์ นักคิด นักเขียน นักแปล และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในระดับประเทศและนานาชาติ ที่ผลิตผลงานคุณภาพออกสู่สังคมมากมาย อาทิ งานเขียน “สู่ชีวิตอมตะ: เทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ศตวรรษที่ 21” เรื่องสั้นไซไฟ “นิพพานจักร” งานแปลสารานุกรมบริแทนนิกา สารานุกรมที่เก่าแก่และได้รับความเชื่อถือมากที่สุดในโลกเป็นภาษาไทยครั้งแรก งานแปลหนังสือชุด เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens A Brief History of Humankind) หัวหน้าคณะผู้แปลหนังสือ The Origin of Species ของ Charles Darwin ทั้งยังเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ ณ สหประชาชาติ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2548 อีกด้วย
พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดพิธีสักการะรูปหล่อ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้ก่อตั้งและคณบดีท่านแรกของคณะวิทยาศาสตร์ และปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 26 ในหัวข้อ "Challenges for Mahidol University in the Post COVID-19 Era" สอดรับการเปลี่ยนแปลงและความตื่นตัวของสังคมเกี่ยวกับโลกในยุคหลังวิฤกติ COVID-19 ที่จะไม่หวนกลับไปเป็นดังก่อน วิถีชีวิตแบบปกติใหม่ (New Normal) โอกาสและความท้าทายใหม่ของวงการศึกษา ความอยู่รอดของมหาวิทยาลัย โดยการปาฐกถาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นองค์ปาฐกถา ณ ห้อง L-01 อาคารบรรยายรวม ตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ซึ่งสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/MahidolSC
สำหรับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 62 ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นในฐานะ โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อจัดการศึกษาเตรียมแพทย์ และเตรียมวิชาประเภทอื่น ๆ ขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในราชกิจจานุเบกษา ปี พ.ศ. 2501 และได้รับการยกฐานะเป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ในเวลาต่อมา คณะวิทยาศาสตร์ยังคงความมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และจะทำให้ทุกคนเห็นประจักษ์ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ต่อการค้ำจุนสังคมและมนุษยชาติ และเป็นสติของประชา เป็นปัญญาของสังคม ตามปณิธานของคณะฯ สร้างบัณฑิตและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงและได้รับการยอมรับระดับสากล รวมถึงนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้าต่อไป
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
เขียนข่าว: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ภาพกิจกรรม: นายนภาศักดิ์ ผลพานิช, นายจิรภัทร เอี่ยมเจริญลาภ
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม