logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2563

 

คณะวิทยาศาสตร์ สื่อสารความรู้สู่สังคมต่อเนื่อง จัดเสวนาพิเศษ NOBEL PRIZE in Science Café Vol.3 ตอน “ไวรัสตับอักเสบซี”

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สื่อสารความรู้สู่สังคมอย่างต่อเนื่อง จัดงานเสวนาพิเศษ NOBEL PRIZE in Science Café Vol.3 ตอน “ไวรัสตับอักเสบซี” อธิบายผลงานของ ศาสตราจารย์ฮาร์วีย์ เจ อัลเทอร์ (Harvey J. Alter) ศาสตราจารย์ไมเคิล ฮอตัน (Michael Houghton) และศาสตราจารย์ชาร์ลส์ เอ็ม ไรซ์ (Charles M. Rice) 3 นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C virus) สาเหตุของมะเร็งตับ ซึ่งเป็นการช่วยมนุษยชาติได้หลายล้านคน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ประจำปี 2020 สร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักต่อบทบาทและความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ โดยมี รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา รองศาสตราจารย์ ดร.วิไล หนุนภักดี เทียนรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชื่นจิตต์ บุญเฉิด อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบซี สาเหตุของการเกิดมะเร็งตับ และเรื่องราวการค้นพบโครงสร้างไวรัส ซึ่งนำไปสู่การค้นหายาต้านไวรัสตับอักเสบซีโดยตรงได้สำเร็จ ถือเป็นการสร้างประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ไปอีกขั้น รวมถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซี ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พญ.พิมทิพย์ สังวรินทะ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 11:00 – 12:00 น. ณ ห้องประชุม K102 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท พร้อมถ่ายทอดสดทาง Facebook page คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย

ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C virus) เป็นปัญหาด้านสุขภาพทั่วโลกในระดับที่เทียบเท่ากับการติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค ปัจจุบันพบว่ามีผู้ติดเชื้อกว่า 70 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วจำนวนกว่า 400,000 คน การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีนั้นติดต่อผ่านการรับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดที่มีชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัสอยู่ ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และนำไปสู่มะเร็งตับในที่สุด โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่มีอาการใด ๆ เลยจนกว่าจะมีการเสื่อมของตับมาก ๆ กระทั่งตับแข็งแล้ว

ปัจจุบันยารักษาไวรัสตับอักเสบซีมีหลายชนิด ทั้งยาแบบฉีด และยาแบบรับประทานที่ออกฤทธิ์ต่อไวรัสโดยตรง (DAAs: Direct acting antiviral agents) เช่น โซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir) ซึ่งได้รับการบรรจุอยู่ใน สปสช.แล้ว การรักษาด้วยการฉีดยาร่วมกับการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องผู้ป่วยสามารถหายขาดได้ อัตราการตอบสนองต่อยาอาจสูงถึงร้อยละ 90 ขึ้นอยู่กับชนิดย่อยของไวรัส ซึ่งแบ่งออกเป็นอีก 7 ชนิดย่อย และอาจจะมีการค้นพบชนิดย่อยใหม่ ๆ เพิ่มเติมในอนาคต สำหรับประเทศไทยส่วนมากมีผู้ป่วยด้วยไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 3 มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 40 ในส่วนของวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซีนั้น เนื่องจากตัวไวรัสมีการพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอดอย่างต่อเนื่องและมีความหลากหลายแม้จะอยู่ในผู้ป่วยเพียงคนเดียว การพัฒนาวัคซีนที่ครอบคลุมการติดเชื้ออาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
เขียนข่าว: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ภาพกิจกรรม: นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม