logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2556

 

MUSC Research Forum: โจทย์วิจัยจากภาคเอกชน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2556  เวลา 13.30 – 16.00 น. ณ ห้องประชุม อาคารสตางค์ มงคลสุข งานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม MUSC Research Forum ซึ่งเป็นการเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “โจทย์วิจัยจากภาคเอกชน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิจัยและผู้ประกอบการจากภาคอุตสาหกรรมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ปัญหาและความต้องการของภาคเอกชน เสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือ นำไปสู่การสร้างผลงานวิจัยที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ โดยได้รับเกียรติจากคุณฉัตรกมล มุ่งพยาบาล เลขาธิการสมาคมชาวสวนผลไม้ จังหวัดชุมพร และ คุณพงศ์พิศุทธิ์ เกียรติวรางกูร ประธาน บริษัท น้ำมันมะพร้าวไทย จำกัด รวมทั้งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ศศิวิมล แสวงผล สังกัดภาควิชาพฤกษศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรเกียรติ เกิดเจริญ สังกัดภาควิชาฟิสิกส์  ร่วมการเสวนาในครั้งนี้ โดยคุณฉัตรกมล มุ่งพยาบาล ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำสวนทุเรียน แนวทางการจัดการสวนที่สามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดจากการสังเกต ลองผิดลองถูกในการทำสวนทุเรียน เช่น การใช้ฮอร์โมน Gibberellin เพื่อยืดระยะเวลาการเก็บเกี่ยวทุเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ ได้ฝากโจทย์วิจัยเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเนื้อทุเรียนเพื่อใช้เป็นเวชสำอางค์ เนื่องจาก พบว่าเนื้อทุเรียนสามารถใช้รักษาแผลสดได้ จากนั้น คุณพงศ์พิศุทธิ์ เกียรติวรางกูร ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำน้ำมันมะพร้าวหีบเย็น ประวัติความเป็นมาของบริษัท วิธีการผลิตน้ำมันมะพร้าว พร้อมแนะแนวคิดเกี่ยวกับการต่อยอดทางธุรกิจ นอกจากนี้ ได้เล่าถึงประเด็นที่ต้องการให้ทำวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว คือ ทำอย่างไรให้น้ำมันมะพร้าวไม่เป็นไขที่อุณหภูมิ -5°C เพื่อใช้ส่งออกไปยังประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น และกรรมวิธีการแยกกรดลอริค กรดคาปริก และกรดคาปริลิกออกจากน้ำมันมะพร้าวเพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์ต่อไป  สุดท้ายนี้ ศาสตราจารย์พิมพ์ใจ ใจเย็น ได้แนะประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับโจทย์วิจัยที่ได้จากการเสวนาครั้งนี้ ได้แก่ การทำวิจัยเกี่ยวกับสาร Antioxidant ในทุเรียน และสาร Bioactive compound ในน้ำมันมะพร้าว เพื่อนำมาพัฒนา/ประยุกต์ใช้เป็นเวชภัณฑ์และเครื่องสำอางค์ต่อไป หลังจากจบการจัดกิจกรรมนี้ วิทยากรและผู้เข้าร่วมฟังเสวนาได้รับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อสร้างความคุ้นเคย ซึ่งอาจทำให้เกิดการสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยต่อไป กิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากคณาจารย์และเจ้าหน้าที่จากคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก เป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 60 คน