กลับมาอีกครั้งกับกิจกรรมของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมสังคมอุดมวิทยาศาสตร์ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2563 โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ภายใต้แนวความคิด "จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน" ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้ BCG Model ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ตรงกับที่ในปีนี้เป็นปีสากลแห่งสุขภาพพืช (IYPH, International Year of Plant Health) และปีสากลแห่งการพยาบาลและผดุงครรภ์ (International Year of the Nurse and the Midwifery) เพื่อรำลึกถึง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้บุกเบิกและวางรากฐานวิชาชีพการพยาบาล
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ประจำปี 2563 ได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปแล้วในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นี้ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงานถึงความเป็นมาในการจัดกิจกรรม และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน
สำหรับกิจกรรมภายในบูธคณะวิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมโดยภาควิชาต่าง ๆ ในคณะฯ ซึ่งได้เปิดให้น้อง ๆ ได้ร่วมสนุกไปแล้ว ได้แก่
กิจกรรม Puzzle playground โดยภาควิชาคณิตศาสตร์ ในวันแรกของการจัดนิทรรศการ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ที่เปิดให้สนุกกับเกมกระดานและของเล่นหลากหลายชนิดที่ใช้หลักการทางคณิตศาสตร์
กิจกรรมทายที่มาของกลิ่นปริศนา และเรียงความหนาแน่นของสาร โดยภาควิชาเคมี ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ที่พี่ ๆ นักศึกษาภาควิชาเคมียกเอาสารพัดสารสีสวยที่มีความหนาแน่นต่างกันมาให้น้อง ๆ ทดลองเรียงลำดับหยดใส่ขวดแก้วพร้อมเป็นของที่ระลึก
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามกิจกรรมที่น่าสนใจภายในบูธได้ทาง facebook page คณะวิทยาศาสตร์ https://facebook.com/MahidolSC และเที่ยวชมงานได้ตั้งแต่วันที่ 13 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เวลา 09:00 เป็นต้นไป ที่บูธหมายเลข 16 18 20 22 อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี
กิจกรรมการนำเสนอกล้องโทรทัศน์วิทยุ (Radio Telescope) โดยภาควิชาฟิสิกส์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ที่ใช้จานดาวเทียม 60 cm. มาดัดแปลงรับสัญญาณบนท้องฟ้า นำข้อมูลที่ได้มาผสมกันเป็นภาพขาวดำ เพื่อวัดความเข้มของคลื่น นอกจากนั้นยังแสดงเครื่อง Computer Numerical Control (CNC) เครื่องมือที่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของวัตถุในรูปแบบ 3 มิติ ให้ไปยังตำแหน่งที่ต้องการผ่านการควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยการใช้งาน CNC มีได้หลากหลายขึ้นอยู่กับวัตถุที่ใช้ควบคุม เช่น ปากกา จะสามารถวาดภาพให้ได้รูปเหมือนคนวาดได้ สว่าน จะสามารถใช้ในงานแกะสลัก หรือตัดวัตถุได้ เป็นต้น ซึ่งภาควิชาฟิสิกส์ ได้ทำพวงกุญแจจากแผ่นไม้ แกะสลักด้วยเครื่อง CNC แจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้เยี่ยมชมซึ่งได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก
กิจกรรมสวนสวยในขวดแก้วในวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ ได้ยกเอาพืชจิ๋วที่ถูกเพาะเลี้ยงด้วยเทคนิค Tissue Culture หลากหลายสายพันธุ์มาจัดแสดง เช่น กระบองเพชร หม้อข้าวหม้อแกงลิงจิ๋ว เป็นต้น ซึ่งมีน้อง ๆ นักเรียนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
กิจกรรมในวันอังคารที่ 17 พพฤศจิกาย พ.ศ. 2563 เป็นการผ่าตัวอย่างงูเห่าไทย "Snake Dissection" เพื่อดูโครงสร้าง และอวัยวะภายในโดยอาจารย์และพี่ ๆ นักศึกษาภาควิชาชีววิทยา พร้อมแสดงตัวอย่างการเจริญของงูเห่า และตัวอย่างดองใสให้รับชมสร้างความตื่นตาตื่นใจกับน้อง ๆ นักเรียนเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรม "โรคหมุนรอบตัวเรา" โดยพี่ ๆ จากภาควิชาพยาธิชีววิทยา ซึ่งเป็นการให้ความรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การดูแลสุขภาวะที่ดี รวมถึงวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่าง ๆ ในอนาคต ผ่านการ์ดเกมจับคู่ พร้อมดูตัวอย่างกายวิภาคศาสตร์ประกอบ และยังมีการตอบคำถามชิงรางวัลช่วยสร้างสีสันอีกด้วย
กิจกรรมในวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ภาควิชาจุลชีววิทยา มาในแนวคิดรณรงค์ให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการล้างมือ โดยนำกล้องจุลทรรศน์มาให้น้อง ๆ ชมเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่นที่อยู่ทั่วไปบนผิวหนัง พร้อมให้ความรู้และนำตัวอย่างภาพเชื้อโรคก่อนและหลังล้างมือมาให้ชมกันอีกด้วย อีกทั้งยังแสดงนวัตกรรมชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับและพยาธิใบไม้กระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการเกษตรกรรมในการค้นพบโรคระบาดในเขตร้อนทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีภาควิชาเภสัชวิทยา ที่นำกิจกรรมการทำโลชั่นบาร์ โลชั่นแบบพกพาที่มีกลิ่นจากน้ำมันหอมระเหยหลากหลายกลิ่น โดยน้อง ๆ ได้ลงมือทำโลชั่นบาร์ในกลิ่นที่ชอบด้วยตนเองและสามารถนำกลับบ้านได้อีกด้วย โดยกิจกรรมนี้เป็นที่ได้รับความสนใจจากน้อง ๆ เป็นอย่างมาก
ในวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 จัดกิจกรรมแนะนำหลักสูตร การเข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ และจัดแสดงผลงานเรื่องสารสกัดกระชายขาว สู่การพัฒนาเป็นยาต้าน COVID – 19 ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยที่ภาคภูมิใจของคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการพัฒนาสารสกัดกระชายขาวเป็นยาแผนปัจจุบัน
กิจกรรมเกม BINGO COVID– 19 เป็นเกมที่สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันความเสี่ยงการติดโรค COVID-19 เบื้องต้น เช่น ล้างมืออย่างน้อย 20 วินาที หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสดวงตา หรือ การสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น พร้อมกิจกรรมแนะนำหลักสูตร การเข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ อีกทั้งจัดแสดงผลงานวิจัยไข่น้ำ หรือผำ พืชจิ๋ว superfood พื้นบ้านของไทย ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก อุดมด้วยโปรตีนและไฟเบอร์สูง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ใช้ในการพัฒนาสตาร์ตอัพของไทย จากอาหารพื้นบ้านสู่อุตสาหกรรมอาหารระดับโลก
กิจกรรม Mini game Scoville ให้น้อง ๆ รู้จักแคปไซซิน (capsaicin) สารให้ความเผ็ดร้อนในพริก และประโยชน์ของแคปไซซิน นอกจากนั้นยังให้ความรู้เกี่ยวกับสารสำคัญในสมุนไพรกระชายขาว ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อก่อโรคโควิด 19 ได้โดยไม่เป็นพิษต่อเซลล์ พร้อมแนะนำหลักสูตร การเข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ อีกทั้งจัดแสดงผลงานนวัตกรรมในการสื่อสารพิษวิทยาและอนามัยสิ่งแวดล้อมจากห้องเรียนสู่ประชาชน World of toxicants & Where to fine them ที่นำเอาพิษที่อยู่รอบตัวเรามาเล่าผ่านตัวการ์ตูนให้เข้าใจง่ายขึ้นในรูปแบบวิดีโอ ebook และบทความต่าง ๆ โดยกลุ่มวิจัยชีววิทยาเพื่อการศึกษาและความบันเทิง ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา กระทรวงศึกษาธิการ
กิจกรรมเกมฝึกสมองทดลองความจำ (Cognitive Training Card) ซึ่งมีความจำและการสังเกตเป็นพื้นฐาน ของการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี สามารถนำไปใช้ในการสังเกตสิ่งต่าง ๆ และตั้งสมมติฐานได้ในอนาคต ได้รับเกียรติจาก ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและสังคมสัมพันธ์ มาให้ข้อมูลรายละเอียดในภาพรวมของคณะวิทยาศาสตร์แก่ผู้สนใจอีกด้วย
ในวันสุดท้าย เป็นกิจกรรมสวนผักบนโต๊ะอาหาร และ Aquaponic โดยภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจัดแสดงการปลูกพืชแบบไร้ดิน เพื่อการผลิตอาหารแห่งอนาคต พร้อมกับจัดสาธิตระบบ Aquaponics เทคโนโลยีส่วนหนึ่งในสาขาวิชาเทคโนโลยีพืช เพื่อการผลิตพืชในอนาคต เป็นระบบการปลูกพืชที่พัฒนามาจากการเทคนิคการปลูกพืชแบบไร้ดินหรือที่เรียกว่า Hydroponics ซึ่งต้องมีการใช้สารละลายธาตุอาหารจากสารเคมีที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ในระบบ Aquaponics นั้นจะเลี้ยงปลาในน้ำที่ปลูกพืช และใช้มูลของปลาเป็นปุ๋ยธรรมชาติสำหรับการเจริญเติบโตของพืช ในขณะเดียวกันพืชที่ใช้สารอาหารในน้ำก็จะช่วยกรองน้ำที่สะอาดขึ้นสำหรับการอยู่อาศัยของปลาได้ด้วย ซึ่งระบบนี้สามารถปรับใช้ในการเลี้ยงปลาที่สามารถใช้เป็นอาหารได้ ทำให้สามารถใช้ผลิตพืชและเลี้ยงปลาไปพร้อมกันโดยใช้สารเคมีน้อยลง อีกหนึ่งกิจกรรม คือ มาวัดพลังยอดมนุษย์กันเถอะ : ทดสอบความไว การทำงานสัมพันธ์กันระหว่างมือและตา โดยภาควิชาสรีรวิทยา ที่นำเกมหลากหลายแบบมาให้น้อง ๆ เล่นเพื่อทดสอบความไว การทำงานสัมพันธ์กันระหว่างมือและตา โดยมีทั้งเกมชู้ตบาส เกมแอร์ฮ็อกกี้ และเครื่องทดสอบความนิ่งของมือ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามกิจกรรมที่น่าสนใจภายในบูธได้ทาง facebook page คณะวิทยาศาสตร์ https://facebook.com/MahidolSC/ และเที่ยวชมงานได้ตั้งแต่วันที่ 13 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เวลา 09:00-19:00น. ที่บูธหมายเลข 17-20 อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ, นางสาวจิรนันท์ นามั่ง
ภาพกิจกรรม : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ, นางสาวปัณณพร แซ่แพ, นางสาวนันท์มนัส วิมลเศรษฐ,
นางสาวภัทรศุภางค์ คงคาเนรมิตร, นางสาวจิรนันท์ นามั่ง, นางสาวขนิษฐา ธรรมรักษ์
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวนุชสรา บุญครอง, นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม, นางสาวเฉิดฉันทร์ ราชบุรณะ