logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2562

 

องค์การอนามัยโลกจัดประชุมอาเซียนเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการทำหมันยุง

ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 เวลา 09.00 น. ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมขององค์การอนามัยโลก เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการควบคุมไข้เลือดออกที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากองค์การอนามัยโลก (WHO/TDR) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ณ โรงแรมรามาด้าพลาซ่าบางกอกแม่น้ำริเวอร์ไซต์ กรุงเทพฯ โดยมี รศ. ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รศ. ดร.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าโครงการทำหมันยุงจากศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศพาหะและโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะผู้วิจัยจากกรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอเมริกา และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวม 14 ประเทศ รวมทั้งผู้แทนจากมูลนิธิธนินทร์ เทวี เจียรวนนท์

ทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศพาหะและโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล นำโดย รศ. ดร.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ ได้พัฒนายุงลายบ้านสายพันธุ์ที่เป็นหมัน และต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้สำเร็จ โดยใช้วิธีการทำหมันยุงสองขั้นตอน ขั้นตอนแรกใช้วิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพ ฉีดเชื้อแบคทีเรียร่วมอาศัยสกุลโวบาเกียสองสายพันธุ์ ซึ่งสกัดจากยุงลายสวนเข้าไปในยุงลายบ้าน เพื่อพัฒนายุงลายบ้านสายพันธุ์ที่สามารถทำให้ยุงในธรรมชาติเป็นหมันได้ ขั้นตอนที่สอง ใช้วิธีการฉายรังสีปริมาณอ่อนเพื่อทำให้ยุงลายบ้านสายพันธุ์ที่พัฒนาใหม่นี้เป็นหมันด้วย ก่อนจะปล่อยเฉพาะยุงตัวผู้ซึ่งกินแต่น้ำหวานออกสู่ธรรมชาติ ยุงลายบ้านตัวผู้ที่ผ่านการทำหมันสองขั้นตอนเหล่านี้จะไปผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติเป็นหมัน และไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อได้

โครงการทำหมันยุงลายเป็นหนึ่งโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำการวิจัยต่อยอดและแสดงผลการลดลงของโรคที่นำโดยยุงลาย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคซ้ำซ้อนในชุมชนเมือง การวิจัยเพื่อแสดงผลการลดลงของโรคที่นำโดยยุงลายนี้เป็นการทำวิจัยต่อเนื่องจากโครงการนำร่องที่ได้แสดงผลการลดลงของยุงลายในพื้นที่วิจัย อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2559 โดยจากการประเมินผลวิจัยพบว่า สามารถลดจำนวนยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคในธรรมชาติได้ถึง 97% หลังการปล่อยยุงตัวผู้เป็นเวลา 6 เดือน

โครงการใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกนี้อยู่ในระหว่างการขอหนังสือรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนของ กทม. โดยโครงการฯ ได้รับการรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนจากมหาวิทยาลัย กระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลกเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงต้นปีหน้านี้

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo


เขียนข่าว: ศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศพาหะและโรคที่นำโดยพาหะ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวเฉิดฉันทร์ ราชบุรณะ