วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล – เมื่อเวลา 13.00 น. ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.โทโยกิ โคซาอิ (Prof. Dr.Toyoki Kozai) ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยชิบะ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้ให้เกียรติและร่วมเป็นสักขีพยานในงานพิธีเปิด “ศูนย์ความร่วมมือทางการวิจัยและฝึกอบรมด้านการปลูกพืชในอาคาร ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยชิบะ” (MU-CU Collaborative Research and Training Center in Plant Factory) หรือ ศูนย์ MU-CU PFAL มีเป้าหมายในการยกระดับกระบวนการผลิตพืชมูลค่าสูง โดยพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านต่างๆ ทั้งเทคโนโลยีชีวภาพ การเกษตร วิศวกรรม และ IOT เพื่อใช้ในโรงงานผลิตพืชด้วยแสงเทียม หรือ PFAL (Plant Factory with Artificial Light) ที่ริเริ่มพัฒนาโดยศาสตราจารย์ ดร.โทโยกิ โคซาอิ จากมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ให้เกียรติมาเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดศูนย์ฯ ในฐานะตัวแทนของอธิการบดีมหาวิทยาลัยชิบะในครั้งนี้ด้วย แนวคิดและเทคโนโลยีนี้ได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก และเริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยรองศาสตราจารย์ ดร.กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน ในฐานะผู้อำนวยการการจัดตั้งศูนย์ฯ ได้ให้ข้อมูลว่า “งานวิจัยด้าน PFAL ของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ถูกริเริ่มขึ้นที่คณะวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ในระยะเริ่มต้นนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เน้นพัฒนาองค์ความรู้การวิจัยพื้นฐาน เพื่อที่จะเข้าใจการตอบสนองของพืชในระบบควบคุมสภาพแวดล้อมเทียม สำหรับพืช 2 กลุ่ม คือกลุ่มพืชเขตร้อนและกึ่งร้อน และกลุ่มพืชเขตหนาว ชนิดที่ไม่สามารถผลิตได้ภายใต้สภาพอากาศของประเทศไทย โดยเริ่มพัฒนาต้นแบบ Plantopia® ซึ่งเป็น PFAL ขนาดเล็กภายใต้ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมแบบกึ่งปิด ที่ใช้สำหรับการคัดเลือกต้นพืชพันธุ์กลายและต้นพืชที่มีพันธุกรรมผันแปรได้อย่างแม่นยำและใช้ย่นระยะเวลาการคัดเลือกพันธุ์ ซึ่งต่อมาเป็นผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับนักศึกษาในงานแสดงผลงานนวัตกรรมแห่งชาติในปี พ.ศ. 2546 หลังจากนั้น มีงานวิจัยอีกหลายโครงการที่ใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาช่วยให้เข้าใจผลกระทบของสภาวะแวดล้อมเทียม ต่อการเจริญเติบโตและกลไกการสร้างสารสำคัญในพืชสมุนไพร โดยมีบางงานวิจัยที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยชิบะ และอาจารย์สังกัด มหาวิทยาลัยมหิดลที่วิทยาเขตกาญจนบุรี รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผักสมุนไพรมูลค่าสูง ด้วยระบบ PFAL ที่ไม่ใช้ดินทั้งในอาคารและโรงเรือน ในขณะเดียวกันคณะวิทยาศาสตร์ก็มีทีมศึกษาวิจัย ที่พัฒนางานด้านโดรน หุ่นยนต์ และเซนเซอร์อัจฉริยะ สาหรับสนับสนุน PFAL และการเกษตรแบบแม่นยำในแปลงปลูก นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ที่รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของระบบการผลิตพืชด้วยเทคโนโลยี PFAL ทำให้มีแหล่งทุนภายในประเทศเริ่มสนับสนุนงานวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ ทำให้ระบบ PFAL เป็นที่นิยมมากขึ้นในหลายหน่วยงาน ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาคเอกชนและองค์กรหลายแห่ง มีงานวิจัยต่อเนื่องในด้านการพัฒนาแหล่งแสง เซนเซอร์ ระบบควบคุม การให้บริการฐานข้อมูล การผลิตแอพพลิเคชั่นที่ใช้กับมือถือ ตลอดจนพัฒนาระบบควบคุมความเย็นและฉนวนความร้อน นอกจากองค์ความรู้ที่ลึกซึ้งในการควบคุมการตอบสนองของพืชในระดับ upstream แล้ว โมเดลปลูกพืชที่ใช้ทดสอบเป็นโมเดลที่เน้นการพัฒนาและผลิตส่วนประกอบขึ้นเองในประเทศให้มากที่สุด ไม่เน้นการนำเข้าเพียงอย่างเดียว...” ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมมือกับภาคเอกชน และหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยต่างๆ อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ในการทำงานวิจัยเชิงลึกด้านระบบการผลิต ระบบแสงสว่าง ระบบควบคุมสภาวะแวดล้อม สำหรับการให้สารละลายธาตุอาหาร และแอพฯ ที่เชื่อมต่อระบบคลาวด์ สำหรับ PFAL ศูนย์ MU-CU PFAL ที่จัดตั้งขึ้นนี้มุ่งเป้าให้เป็นการทำงานแบบสหสาขาที่ร่วมกันหลายหน่วยงาน ทั้งบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์เอง รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมหิดล โดยศูนย์ฯ จะมีการประสานงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทั้งกับสถาบันเครือข่ายฯ และภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งองค์กรอิสระทั้งในและนอกประเทศ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีในภูมิภาค
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าศูนย์ความร่วมมือทางการวิจัยและฝึกอบรมด้านการปลูกพืชในอาคาร MU-CU PFAL มีพันธกิจที่ตอบสนองการวิจัยเชิงปฏิบัติการ สำหรับถ่ายทอดให้ผู้สนใจทั้งในภาคการศึกษา ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันและภาคเอกชน เพื่อพัฒนางานวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์อย่างเหมาะสมสำหรับการลงทุน สามารถถ่ายทอดสู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชนของประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นในภูมิภาคที่ต้องการได้ อันจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือที่ยั่งยืน ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคมากขึ้น ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลได้กล่าวเสริมว่า MU-CU PFAL นี้ เป็นหนึ่งในศูนย์ Joint Research Center ที่มหาวิทยาลัยมหิดลให้การสนับสนุนการจัดตั้ง ภายใต้โครงการ “ทุนสนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ปีงบประมาณ 2561” ของกองวิเทศสัมพันธ์ โดยงบประมาณในส่วนของการจัดตั้งอาคารปฏิบัติการและระบบสนับสนุนภายใน เป็นการสนับสนุนจากงบประมาณของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเงินสนับสนุนโครงการ จากกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะของคณะวิทยาศาสตร์ ในส่วนของอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นนั้น ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น นอกจากการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ MU-CU PFAL นี้แล้ว ทางมหาวิทยาลัยชิบะยังได้สนับสนุนเงินทุนในการจัดสร้างโรงเรือนระบบควบคุมเพื่อปลูกพืชทดลองที่วิทยาเขตกาญจนบุรีของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้เป็นเครือข่ายวิจัยและฝึกอบรมเช่นกัน
ภาพกิจกรรม: นายจิรภัทร เอี่ยมเจริญลาภ
เขียนข่าว : ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม