เอ็นไอเอชี้เทรนด์การพัฒนานวัตกรรมอาหารโลก พร้อมดึงภาคอุตฯ – การศึกษา ประเดิมปั้นฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ 9 สาขา ร่วมพลิกโฉมอุตฯ อาหารตอบโจทย์ “ครัวโลก”
กรุงเทพฯ 11 พฤศจิกายน 2562 - สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนียน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัว สเปซ-เอฟ: Space – F
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ล่าสุด NIA ได้ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนียน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการจัดตั้งสเปซ-เอฟ: Space – F ซึ่งเป็นโปรแกรมการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านอาหารในระดับนานาชาติให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยโครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยในฐานะการเป็น “ครัวโลก” ด้วยการนำนวัตกรรมมาช่วยยกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารมีทิศทางการเติบโตที่ดีและมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีความมุ่งหวังที่จะให้เป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพสาขานวัตกรรมอาหารให้มีทั้งจำนวน คุณภาพ และมีความหลากหลาย สอดรับกับภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่มีกำลังการผลิตอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงช่วยในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนธุรกิจอาหารยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นอีกด้วย
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศไทย แต่ในการพึ่งพิงการผลิตเพียงอย่างเดียวอาจทำได้เพียงระยะเวลาในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ เนื่องด้วยตลาดการแข่งขันของธุรกิจอาหารกำลังจะมุ่งหน้าไปที่การพัฒนาบริการ และนวัตกรรมอันทันสมัยที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สเปซ-เอฟ จึงเป็นคำตอบหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ (FoodTech) ที่จะเป็นผู้คิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ และตอบสนองความต้องการตลาดอาหารผู้บริโภคได้อย่างเท่าทัน โดยสตาร์ทอัพเหล่านี้ล้วนเข้าใจปัญหาของระบบซัพพลายเชนในธุรกิจอาหารอย่างถ่องแท้และมีแผนทางธุรกิจที่สามารถเติบโตและขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนานวัตกรรมอาหารที่สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญและมีโอกาสเติบโตสูงในปีถัดไป ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการเหลือทิ้งของอาหาร เช่น การนำวัตถุดิบที่ถูกคัดทิ้งมาแปรรูป หรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ หรือไม่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรในกระบวนการผลิต การนำระบบ AI มาใช้ เช่น ในการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ โปรแกรมการผลิตแบบอัจฉริยะ การพัฒนาการเกษตรในเมืองเพื่อรองรับปริมาณประชากรและความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมถึง การพัฒนาอาหารเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารสำหรับผู้สูงวัย อาหารที่ให้พลังงานทดแทน
ด้าน ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนียน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยยูเนียน ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก และเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมอย่างจริงจังมาโดยตลอด โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้นำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการนำนวัตกรรมอาหารมาสู่ภาคธุรกิจ มาเป็นแนวทางให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำความรู้ความเข้าใจมาปรับใช้ และนอกเหนือจากศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนแห่งแรก ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดให้สตาร์ทอัพในโครงการเข้ามาใช้เพื่อทดลองและวิจัย รวมถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โดยมืออาชีพแล้ว เรายังมีบุคลากรในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการบริหารจัดการ และการเงิน เป็นต้น เข้าแนะนำแนวทางพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ทั้ง Incubator และ Accelerator ทั้ง 23 ทีม จะสามารถต่อยอดทั้งด้านนวัตกรรมและประสบความสำเร็จด้านธุรกิจไปด้วยกัน
ขณะที่ รศ. ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคณะวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของประเทศไทย เป็นแหล่งความรู้และ know-how รวมทั้งเครื่องมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาขั้นสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมทางอาหารโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม สำหรับโครงการ SPACE-F นั้น คณะวิทยาศาตร์ จะเสริมกำลังเหล่า startup ด้วยความรู้และ know-how ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรที่จำเป็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเหล่า startup เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้า จนสามารถเติบโตในตลาดได้อย่างรวดเร็ว ประสบความสำเร็จในธุรกิจต่อไป
สเปซ-เอฟ มุ่งพัฒนาฟู้ดเทคสตาร์ทอัพใน 9 สาขา ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ โปรตีนทางเลือก กระบวนการผลิตอาหารอัจฉริยะ บรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต วัตถุดิบและส่วนผสมอาหารใหม่ๆ วัสดุชีวภาพและสารเคมี เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านอาหาร การตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และบริการอัจฉริยะด้านอาหาร ทั้งนี้ ประกอบไปด้วยโปรแกรมการสนับสนุนจาก 3 ภาคหลักที่สำคัญ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา โดยในส่วนของ NIA นั้นจะให้การสนับสนุนตั้งแต่การดึงหน่วยงานร่วมทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เช่น สถาบันการเงิน องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โปรแกรมสนับสนุนการระดมทุน ไปจนถึงการช่วยอำนวยความสะดวกการออกสมาร์ทวีซ่า นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนช่องทางตลาด การประชาสัมพันธ์ การออกงานอีเว้นท์ เช่น Startup Thailand ,Innovation Thailand Expo ต่อเนื่องไปถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสตาร์ทอัพภายในโครงการร่วมกัน
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th
ข่าวจากสื่ออื่นๆ
ภาพกิจกรรม: จิรภัทร
เขียนข่าว: สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม