logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2556

 

MUSC Research Forum: Metabolomics

เมื่อวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2556 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม MUSC Research Forum: Metabolomics ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ พญาไท เวลา 13.00 – 16.30 น. โดยมี ดร. นวพร วินยเวคิน อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อเรื่อง "Metabolomics: What is it? and…What can we use it for?" โดยเล่าถึงประสบการณ์การทำงานวิจัยด้านเมตาโบลอมิกส์ การวิเคราะห์เมตาโบลอมิกส์สำหรับงานด้าน genetic และการนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์เมตาโบลอมิกส์ไปใช้สำหรับงานวิจัยด้านต่างๆ เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับ biomarker การทำ Metabolite profiling สำหรับงานวิจัยด้านเอนไซม์ เป็นต้น จากนั้น Dr. Robin Philp เจ้าหน้าที่จากบริษัท Agilent Technologies (Thailand) Ltd. บรรยายในหัวข้อเรื่อง "Pathway to insight: integrated biology at Agilant" โดยได้เล่าถึงงานวิจัยด้านเมตาโบลอมิกส์ที่ Agilant ดำเนินการอยู่ เทคนิคที่ใช้วิเคราะห์ เครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูงที่ใช้วิเคราะห์เมตาโบลอมิกส์ เช่น LC/MS-MS เป็นต้น รวมถึงการ analyze ข้อมูลที่ได้ จากนั้น รองศาสตราจารย์ประพิณ วิไลรัตน์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายต่อในหัวข้อเรื่อง "State-of-the-art instruments at National Doping Control Center and possible collaboration with MUSC" ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 มีหน้าที่หลักในการวิเคราะห์สารต้องห้ามในนักกีฬาในการแข่งขันกีฬาระดับต่างๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ศูนย์ฯ มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานตามมาตรฐานของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และได้รับมาตรฐานระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ISO/IEC 17025 มีการควบคุมคุณภาพผลของการวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ผลวิเคราะห์ที่ถูกต้อง เช่น มีการทำ Proficiency testing ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เป็นต้น มีความพร้อมด้านเครื่องมือวิเคราะห์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ ศูนย์ฯ มีความยินดีที่จะทำงานวิจัยร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หลังจากจบการจัดกิจกรรมนี้ วิทยากรและผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายได้รับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและสร้างความคุ้นเคย ซึ่งอาจทำให้เกิดการสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยต่อไป กิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากคณาจารย์ เจ้าหน้าที่จากคณะวิทยาศาสตร์ นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภายนอกคณะฯ เป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 90 คน