แอลกอฮอล์ สารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคสูง นิยมใช้ในการทำความสะอาดในสถานที่ที่ต้องรักษาความสะอาดมาก ๆ อย่างเช่น โรงพยาบาล หรือห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งในสถานการณ์ที่เกิดการระบาดของ COVID-19 ที่มีการรณรงค์การป้องกันการติดเชื้อด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม ร่วมกับการรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำเปล่าและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทำให้แอลกอฮอล์เป็นที่ต้องการอย่างมากไม่เฉพาะในโรงพยาบาลแต่รวมไปถึงในกลุ่มคนทั่วไปด้วย ทำให้มีผู้ประกอบการบางรายฉวยโอกาสนำเอาสารเคมีอื่น ๆ ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายมาผสมและนำมาจำหน่าย ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งาน จึงเป็นหน้าที่และความท้าทายของนักเคมีที่จะร่วมกันให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นหูเป็นตาให้กับสังคม ดร.ธันฐภัทร์ บุญช่วย หรืออาจารย์วาเลนไทน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีกล่าว
รู้จักแอลกอฮอล์กันก่อน
แอลกอฮอล์ เป็นสารอินทรีย์ที่มีองค์ประกอบหลักคือธาตุคาร์บอน (Carbon) ไฮโดรเจน (Hydrogen) และออกซิเจน (Oxygen) โดยมีกลุ่มอะตอม เรียกว่า หมู่ของไฮดรอกซิล (Hydroxyl group) หรือ -OH ภายในโครงสร้าง แอลกอฮอล์มีหลายชนิดจำแนกได้จากความสั้น-ยาวและการเรียงตัวของสายคาร์บอน ซึ่งส่วนมากผู้คนจะคุ้นหูกับแอลกอฮอล์ที่มีการนำมาใช้งานอยู่ 3 ชนิด คือ เมทิลแอลกอฮอล์ เอทิลแอลกอฮอล์ และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์
เมทิลแอลกอฮอล์ vs เอทิลแอลกอฮอล์ vs ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์
เมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) หรือ เมทานอล (Methanol) สูตรโครงสร้างทางเคมี คือ CH3OH ผลิตได้จากกระบวนการทางปิโตรเคมี สามารถนำไปใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เช่น สีทาไม้ น้ำมันเคลือบเงา ยาลอกสี แต่ไม่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์เนื่องจากมีความเป็นพิษต่อร่างกายสูง หากเข้าสู่ร่างกายโดยซึมผ่านทางผิวหนังและลมหายใจ จะส่งผลทำให้หลอดลมอักเสบ คออักเสบ เยื่อบุตาระคายเคือง ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ หากหายใจเข้าไปมาก ๆ จะทำให้ปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก การมองเห็นจะผิดปกติจนอาจถึงขั้นตาบอดได้ หากดื่มเข้าไป ทางเดินอาหารจะดูดซึมและกระจายเข้าสู่กระแสเลือดทันที ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เห็นภาพไม่ชัด มีผลต่อประสาทตา และอาจทำให้ตาบอดได้ ที่สำคัญยังมีผลต่อระบบหายใจ ทำให้ไตอักเสบ กล้ามเนื้อตับตาย หรือโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอันตรายถึงชีวิต
ขณะที่เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) หรือ เอทานอล (Ethanol) สูตรโครงสร้างทางเคมี C2H5OH เป็นผลผลิตจากกระบวนการหมักพืชผลทางการเกษตรที่มีองค์ประกอบของแป้งหรือน้ำตาลสูงและกลั่นให้บริสุทธิ์ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย เป็นต้น โดยอ้อย 1 ตัน สามารถผลิตแอลกอฮอล์ได้ราว 60 กิโลกรัม สามารถนำไปบริโภค หรือใช้ทางการแพทย์ได้
ส่วนไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl Alcohol) หรือ ไอโซโพรพานอล (Isopropanol) มีสูตรทางเคมีคือ C3H8O เกิดจากการเติมน้ำไปในแก๊สโพรพีนด้วยกลไกทางเคมี ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการทางปิโตรเคมี ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์นี้ สามารถนำมาใช้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้
รู้ได้อย่างไรแบบไหนคือ เมทิลแอลกอฮอล์ เอทิลแอลกอฮอล์ หรือ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์
สำหรับวิธีที่สามารถจำแนกแอลกอฮอล์ทั้ง 3 ชนิดออกจากกันได้แม่นยำคือ การพิสูจน์อัตลักษณ์ด้วยเทคนิคทางสเปกโทรสโกปี (Spectroscopy) เช่น Nuclear Magnetic Resonance (NMR) Spectroscopy วิธีการนี้สามารถบอกประเภทของแอลกอฮอล์ ไปจนถึงปริมาณการปนเปื้อนของแอลกอฮอล์หรือสารประเภทอื่น ๆ ได้ด้วย แต่วีธีการนี้ต้องอาศัยเครื่องมือวิเคราะห์ที่มีราคาแพง และผู้เชี่ยวชาญในการใช้งาน
นอกจากนั้นยังมีการทดสอบด้วยเทคนิค Gas Chromatography โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โสภณัฐ คงศรีประพันธุ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ศิษย์เก่าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการตรวจสอบการปนเปื้อนของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์เจลล้างมือด้วยเทคนิคดังกล่าว โดยเทคนิคนี้จำแนกแอลกอฮอล์ทั้ง 3 ชนิดได้แม่นยำเช่นกัน แต่ก็ยังคงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจวิเคราะห์อยู่
ส่วนวิธีการอย่างง่ายซึ่งสามารถทำได้โดยใช้อุปกรณ์ภายในบ้านสามารถทำได้ 4 วิธีด้วยกัน วิธีการแรกคือ การวัดจุดเดือด โดยนำเอาแอลกอฮอล์ใส่หลอดแก้วและนำไปต้มในอ่างน้ำร้อน แล้วจึงวัดอุณภูมิขณะที่แอลกอฮอล์เดือด เพื่อป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์ติดไฟ หากเป็นเมทิลแอลกอฮอล์จะมีจุดเดือดที่อุณหภูมิประมาณ 65 องศาเซลเซียส ขณะที่เอทิลแอลกอฮอล์ จะมีจุดเดือดอยู่ที่อุณหภูมิประมาณ 78 องศาเซลเซียส และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์จะมีจุดเดือดที่อุณหภูมิประมาณ 83 องศาเซลเซียส
วิธีการที่ 2 คือ การจุดเปลวไฟ นำแอลกอฮอล์มาจุดไฟแล้วสังเกตดูสีของเปลวไฟ เมทิลแอลกอฮอล์จะมีเปลวไฟสีฟ้าและสังเกตเปลวไฟยาก ส่วนเอทิลแอลกอฮอล์ และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์จะมีเปลวไฟเหลืองส้มและติดไฟนาน
วิธีการที่ 3 คือ ดูการเปลี่ยนแปลงสีเมื่อผสมกับสารละลายไอโอดีนและโซดาไฟ โดยเตรียมแอลกอฮอล์ที่ต้องการทดสอบใส่หลอดแก้ว 10 หยด แล้วหยดสารละลายไอโอดีนหรือทิงเจอร์ไอโอดีนลงไป 25 หยด จากนั้นหยดสารละลายโซดาไฟลงไป 10 หยด หากเป็นเมทิลแอลกอฮอล์จะเปลี่ยนสีจากสีเหลืองน้ำตาลของไอโอดีนเป็นสีใส ขณะที่เอทิลแอลกอฮอล์และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์จะเปลี่ยนเป็นสีขุ่นขาว
วิธีการที่ 4 ดูความเร็วในการเปลี่ยนสีเมื่อผสมกับน้ำส้มสายชูและด่างทับทิมเกล็ด โดยหากเทน้ำส้มสายชูและด่างทับทิมสีม่วงแดงผสมกันเรียบร้อย 1/3 ช้อนกาแฟ ลงในแอลกอฮอล์ที่เตรียมไว้ 1/2 ช้อนกินข้าวแล้ว หากสีม่วงแดงหายไปภายใน 3 นาที แสดงว่าเป็นแอลกอฮอล์นั้นเป็นไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หากสีม่วงแดงหายไปภายใน 5 นาที เป็นเอทิลแอลกอฮอล์ แต่หากไม่เปลี่ยนสีแม้ผ่านไปนานกว่า 15 นาทีแล้ว แสดงว่าเป็นเมทิลแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ วิธีการตรวจสอบอย่างง่ายเหล่านี้ยังมีจุดอ่อน คือ บางวิธีสามารถแยกแยะเมทิลแอลกอฮอล์ออกจากแอลกอฮอล์อีก 2 ชนิดได้เพียงคร่าว ๆ เท่านั้น แต่ไม่สามารถแยกเอทิลแอลกอฮอล์ออกจากไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ได้ และทั้ง 4 วิธีที่กล่าวมาไม่สามารถบอกได้ว่าเอทิลแอลกอฮอล์ หรือไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์นั้นมีการปนเปื้อนสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่
ดังนั้น หากเราซื้อแอลกอฮอล์มาเป็นจำนวนมากเพื่อนำมาใช้หรือบริจาคให้กับโรงพยาบาล ควรจะนำส่งตรวจก่อนนำไปบริจาค โดยสามารถส่งตรวจได้ที่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ (MUPY-CAPQ) ฝ่ายจุลชีววิทยา (CAPQ-MICRO) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ฯลฯ ร่วมกับอ่านรายละเอียดในใบรับรองที่ได้มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะบอกถึงเกรดของแอลกอฮอล์ที่เราซื้อมาว่าสามารถใช้ในงานใด เช่น ใช้ทางการแพทย์ ใช้บริโภค หรือใช้ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น หรือเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีการเติมสารบางอย่างลงไป (Denatured Ethanol) ทำให้คุณสมบัติ กลิ่น หรือรสของแอลกอฮอล์เสียไป บางครั้งสารที่เติมเป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งไม่ควรเอามาใช้ทางการแพทย์และการดื่ม
สารเคมีทุกชนิดบนโลกล้วนมีพิษ หากใช้ในปริมาณและความเข้มข้นที่ไม่เหมาะสม
แม้เอทิลแอลกอฮอล์จะสามารถนำมาใช้กับร่างกายได้โดยไม่เป็นอันตราย แต่สารเคมีทุกชนิดบนโลกล้วนมีพิษ หากใช้ในปริมาณและความเข้มข้นที่ไม่เหมาะสม ดร.ธันฐภัทร์ กล่าว โดยความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมกับการใช้ฆ่าเชื้อโรคและไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ซึ่งใช้ทำความสะอาดพื้นผิวอุปกรณ์ต่าง ๆ จะอยู่ที่ 70-90 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตรในน้ำ แต่เมื่อตั้งทิ้งไว้แอลกอฮอล์บางส่วนอาจระเหยออกไป ทำให้ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ลดลงทำให้ประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์ลดลง จึงมีการผสมสารบางอย่างลงไปเพื่อให้แอลกอฮอล์ระเหยได้ช้าลงและช่วยรักษาความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
เพื่อความปลอดภัยเราจึงควรศึกษาข้อควรระวังในการใช้งานจากเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (Safety Data Sheet: SDS) ที่จะบอกถึงวิธีการใช้งานและรับมือกับสารเคมีอย่างเหมาะสม อันตรายของสารเคมี การกำจัดสารเคมีออกจากร่างกาย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น นอกจากนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสถาบันที่เชื่อถือได้ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับอันตรายจากสารเคมีได้เช่นกัน ดร.ธันฐภัทร์ ทิ้งท้าย
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตรวจสอบโดย: ดร.ธันฐภัทร์ บุญช่วย
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพถ่าย: ดร.ธันฐภัทร์ บุญช่วย
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม