logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2561

 

คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จับมือร่วมนำทีมนักวิจัย
ผลักดันนวัตกรรมการพัฒนายาจากธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ได้มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาสารสกัดจากธรรมชาติให้พบสารออกฤทธิ์ทางยา ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ตามพันธกิจในการส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาบุคลากรที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์เพื่อสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ของประเทศ

ในโอกาสนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือและเสวนาด้านนวัตกรรมการพัฒนายาจากธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ในหัวข้อการเสวนา “ก้าวสำคัญสู่นวัตกรรมเปิด การค้นหายาจากธรรมชาติ” โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร. พญ.รวงผึ้ง สุทเธนทร์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และคณะผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และ ดร.ณภัศศรณ์ ปัญญาสุข ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร พร้อมทั้งแขกผู้มีเกียรติจากสถาบันต่างๆ ร่วมรับฟังการเสวนา ซึ่ง ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ ในนามศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้เสวนาร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสวทช. โดยได้พูดคุยถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันในครั้งนี้ซึ่งมีลักษณะเป็นนวัตกรรมเปิด (Open Innovation) ถ่ายทอดการค้นพบออกฤทธิ์ยาตัวใหม่จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และทรัพย์สินทางปัญญาจากบริษัท start up หรือนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ สร้างความเข้มแข็งด้านวิจัยและพัฒนา อันจะช่วยเกื้อหนุนการสร้างนวัตกรรมการค้นหายาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าของนวัตกรรมในอนาคต

ในปี 2559 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา" หรือ "Excellent Center for Drug Discovery: ECDD" ซึ่งในปัจจุบันมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์ และเทคนิควิธีการคัดกรองที่ช่วยให้สามารถดำเนินการวิจัยได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ศูนย์ ECDD ดำเนินงานโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เช่น นักเคมี แพทย์ นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ศูนย์ยังมีการจัดตั้งระบบ วิธีการ และมีระบบควบคุมคุณภาพที่มีมาตรฐาน ตั้งแต่ระบบการจัดเก็บสาร ระบบการทดสอบฤทธิ์ของสารด้วยระบบ high throughput screening ที่มีความทันสมัยและสามารถทดสอบสารได้เป็นจำนวนมากอย่างแม่นยำ (หมื่น-แสนชนิด ภายใน 3-4 วัน) และยังมีระบบศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสาร และการทดสอบความปลอดภัยของสารเพื่อที่จะพัฒนาสารไปเป็นตัวยาต่อไป

ภาพถ่าย : ดร.ณภัศศรณ์ ปัญญาสุข และ นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เขียนข่าว : นางสาวจิณนพัฒ มหานนท์
ตรวจสอบโดย : ดร.ณภัศศรณ์ ปัญญาสุข
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวเฉิดฉันทร์ ราชบุรณะ