logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2563

 

งานวิจัยเผยไม่เลื่อนเทศกาลสงกรานต์อาจส่งผลให้คนติด COVID-19 เพิ่มขึ้นกว่า 1.3 ถึง 100 เท่า

หากยังคงจัดเทศกาลสงกรานต์ตามปกติ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน เป็นโจทย์ที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ โหมดชัง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับมาจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ นายแพทย์ปณิธี ธัมมวิจยะ ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมและวิจัย กรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ตอนที่สถานการณ์ COVID-19 ยังมีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพียง 43 คน

เมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศไทยยังมีเฉพาะผู้ป่วย COVID-19 ที่เป็น Imported case จากประเทศจีน และผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อเท่านั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ โหมดชัง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้าน Biological Physics, Dynamics of infectious diseases, Physics of drug resistance evolution, และ Human mobility models ได้รับการเชิญชวนโดย ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ร่วมทีมกับกรมควบคุมโรคในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เพื่อเตรียมรับมือการระบาดในประเทศไทย ซึ่งในทีมประกอบไปด้วยนักวิจัยของกรมควบคุมโรค 3 คน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล 4 คน โดยทีมจะมีการประชุมเพื่ออัพเดทสถานการณ์กันในวันจันทร์ทุก ๆ สัปดาห์

“หากยังคงมีการจัดเทศกาลสงกรานต์ตามปกติ จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 1.3 – 100 เท่า ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ในการละเล่น การควบคุมการระบาดก่อนที่การจัดเทศกาลจะมาถึง หากมีการควบคุมการระบาดก่อนหน้าเทศกาลที่ดีจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 30% แต่หากควบคุมได้ไม่ดีจะส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 10,000%”

COVID-19 เป็นโรคติดต่อ โดยหลักการของโรคติดต่อแล้ว โรคจะติดต่อได้จะต้องมีการสัมผัสกันเกิดขึ้น ซึ่งการสัมผัสกันนั้นเกิดจากการมาพบปะกัน และช่วงเทศกาลถือเป็นช่วงที่ผู้คนมีการมาพบปะกันมากกว่าปกติ กล่าวได้ว่ามีอัตราการสัมผัสกันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้ ผู้คนมักจะเดินทางกลับภูมิลำเนาไปพบปะ สังสรรค์ รวมถึงร่วมการละเล่นต่าง ๆ เช่น เล่นน้ำ ปะแป้ง เป็นต้น ซึ่งอาจจะส่งผลกับสถานการณ์การระบาดของโรคให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกหากไม่มีนโยบายการรับมือที่เหมาะสม ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ นายแพทย์ปณิธี ธัมมวิจยะ ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมและวิจัย กรมควบคุมโรค จึงได้มอบโจทย์เร่งด่วนเมื่อ วันที่ 2 มีนาคม 2563 ซึ่งสถานการณ์การระบาดในไทยยังคงมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 43 คน ให้ทีมเร่งหาผลกระทบของการจัดเทศกาลสงกรานต์กับสถานการณ์การระบาดของโรค เนื่องจากโจทย์นี้ต้องอาศัยความเร็วในการหาคำตอบ และต้องอาศัยข้อมูลอัตราการสัมผัสกันทั้งในภาวะปกติและช่วงวันสงกรานต์มาใช้คำนวณเพื่อคาดการณ์การระบาดของโรค แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลลักษณะนี้มาก่อน รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ร่วมกับทีมนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา กลุ่มวิจัยชีวฟิสิกส์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงใช้วิธีการประมาณอัตราการสัมผัสของคนบนข้อสันนิษฐานว่าเมื่อคนมีการพบปะสังสรรค์กันก็จะมีการใช้จ่ายเกิดขึ้น โดยใช้อัตราการใช้จ่ายเงินต่อครัวเรือน ต่อเดือน ในภาวะปกติมาเปรียบเทียบกับอัตราการใช้เงินในช่วงเทศกาลสงกรานต์จากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเป็นตัวชี้วัด ซึ่งในภาวะปกติครัวเรือนขนาดเฉลี่ย 3.14 คน จะมีอัตราการใช้จ่ายอยู่ที่ 21,346 บาท ต่อครัวเรือน ต่อเดือน เมื่อนำมาคำนวณเป็นรายคน พบว่าจะมีอัตราการใช้จ่ายจะอยู่ที่ 266 บาท ต่อคน ต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว พบว่าช่วงสงกรานต์นั้นมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 2 – 6 เท่าจากภาวะปกติ จากนั้นจึงนำข้อมูลนี้ไปคำนวณต่อในแบบจำลองโรคระบาด ได้ผลสรุปออกมาว่าหากยังคงมีการจัดเทศกาลสงกรานต์ตามปกติ จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 1.3 – 100 เท่า ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ในการละเล่น การควบคุมการระบาดก่อนที่การจัดเทศกาลจะมาถึง หากมีการควบคุมการระบาดก่อนหน้าเทศกาลที่ดีจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 30% แต่หากควบคุมได้ไม่ดีจะส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 10,000%

ทั้งนี้ การที่จะได้มาซึ่งข้อมูลอัตราการสัมผัสกันของคนที่แม่นยำนั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาการเคลื่อนที่ของคนที่เดินทางไปยังแต่ละสถานที่ในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านฟิสิกส์ของระบบสิ่งมีชีวิต (Physics of Living System) และแบบจำลองการเคลื่อนที่ของคน (Human mobility models) ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพยากรณ์โรคระบาด เพื่อออกมาตรการควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที ในประเทศที่มีการเก็บข้อมูลการเคลื่อนที่ของคนในภาวะปกติอยู่แล้ว เมื่อเกิดโรคระบาดก็จะสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์สถานการณ์และตั้งรับได้อย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศจีน เป็นต้น และหากเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องในภาวะที่เกิดการระบาดไปด้วยก็จะสามารถพยากรณ์แนวโน้มในการระบาดได้แบบ real time

ส่วนมากแนวโน้มที่จะเห็นในช่วงแรกของการระบาด ผู้คนอาจจะยังไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงและความสำคัญในการป้องกันโรค มีการสัมผัสกันจึงทำให้การติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดการระบาดไปแล้วระยะหนึ่ง คนเกิดความตระหนักเกี่ยวกับโรคระบาดมากขึ้น ประกอบกับมีการออกมาตรการต่าง ๆ ของผู้กำหนดนโยบายเพื่อป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ และคนที่เคยติดเชื้อเมื่อหายดีแล้วก็จะมีภูมิต้านทานต่อโรค ทำให้อัตราการติดเชื้อจะชะลอตัวและค่อย ๆ ลดลง

ขณะที่การเก็บข้อมูลการเคลื่อนที่กรณีของผู้ที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อว่ามีการเดินทางไปที่ไหนและพบกับใครบ้างก่อนที่จะตรวจพบเชื้อ แล้วนำมาเผยแพร่เป็นประกาศ หรือ นำไปประมวลผลและเผยแพร่ผ่าน Application ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ ก็เป็นประโยชน์กับคนทั่วไปในการหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ รวมถึงเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ในการติดตามและควบคุมโรคอีกด้วย

โดยสรุป จากการศึกษาผลกระทบของการจัดเทศกาลสงกรานต์ต่อสถานการณ์การระบาด COVID-19 หากไม่เลื่อนการจัดเทศกาลสงกรานต์อาจส่งผลให้คนติด COVID-19 เพิ่มขึ้นกว่า 1.3 ถึง 100 เท่า มาตรการยกเลิกการจัดเทศกาลสงกรานต์ โดยเลื่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์ไปชดเชยภายหลังจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อลงได้ ประกอบกับมีการรณรงค์ให้คน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) สวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมืออย่างต่อเนื่อง น่าจะส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

Activity Photo

Activity Photo

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง:

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ โหมดชัง
อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบ : Freepik
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม