logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2563

 

นักศึกษา ป.เอก สาขาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยเรื่องราวการค้นพบดอกดินอรุณรุ่ง และเปราะผาสุก 2 พืชชนิดใหม่ของโลก

การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก (new species) เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความหลากหลายทางชีวภาพของพืชโดยตรง ซึ่งมีบทบาทสำคัญนำไปสู่กระบวนการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน พืชชนิดใหม่ที่พบอาจมีศักยภาพสามารถนำมาใช้เป็นพืชอาหารหรือเครื่องเทศ ไม้ดอกไม้ประดับที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นแหล่งสารสำคัญหรือพืชสมุนไพร ซึ่งนำไปสู่การวิจัยต่อยอด รวมถึงการวิเคราะห์สารองค์ประกอบจากส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อีกด้วย โดยเฉพาะพืชวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) จัดเป็นพืชสมุนไพรกลุ่มหนึ่งที่มีน้ำมันหอมระเหย (essential oil) อยู่มากในทุกส่วนของพืชโดยเฉพาะลำต้นใต้ดินหรือเหง้า และยังมีสรรพคุณสามารถใช้ในทางการแพทย์ได้ ณัฐพล นพพรเจริญกุล หรือ บูม นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ระบุชนิดของ 2 พืชวงศ์ขิงข่าชนิดใหม่ของโลกที่มีดอกสวยงามน่าค้นหา ดอกดินอรุณรุ่ง (Kaempferia aurora Noppornch. & Jenjitt.) และเปราะผาสุก (Kaempferia caespitosa Noppornch. & Jenjitt.) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทยา เจนจิตติกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา พร้อมทั้งบอกเล่าผ่าน #Project A The Series และได้กล่าวถึงความสำคัญของการค้นพบพืชชนิดใหม่ ๆ ไว้อย่างชัดเจน

ณัฐพล ได้เล่าถึงความเป็นมาของ Project A ว่า เป็น code name ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวตั้งแต่เริ่มการศึกษาสำรวจพืชวงศ์ขิงข่า สกุลกระชายดำ (Kaempferia) กลุ่มที่ปรากฏช่อดอกบนพื้นดิน หรือ “ดอกดินสกุลเปราะ” จนกระทั่งสามารถระบุชนิดและรายงานเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก และบอกเล่าผ่าน Facebook ส่วนตัว ซึ่งตัวอักษร A มาจากคำระบุชนิด “aurora” เป็นภาษาละติน แปลว่า รุ่งเช้า หรือ รุ่งอรุณ โดยที่ผ่านมาได้ร่วมศึกษาและระบุดอกดินสกุลเปราะชนิดใหม่มาแล้วทั้งหมด 4 ชนิด คือ เปราะราตรี (Kaempferia noctiflora Noppornch. & Jenjitt.) ดอกดินใบข้าว (Kaempferia graminifolia Noppornch. & Jenjitt.) ดอกดินอรุณรุ่ง และเปราะผาสุก ซึ่งดอกดินอรุณรุ่งและเปราะผาสุกเป็น 2 ชนิดล่าสุดที่ได้รับการรับรองให้เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกเมื่อไม่นานมานี้ และมีเรื่องราวระหว่างการค้นพบที่น่าสนใจ

จุดเริ่มต้นของการค้นพบดอกดินอรุณรุ่ง (Kaempferia aurora) ดอกดินสกุลเปราะชนิดที่ 3 ที่ได้ร่วมศึกษาและได้รับการระบุว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกนั้น เริ่มจากครั้งที่เห็นภาพดอกที่เหี่ยวของดอกดินสกุลเปราะตัวหนึ่งซึ่งมีสีส้มอมน้ำตาลราวกับ “สีสนิม” ทาง Facebook ซึ่งถือว่าแปลกตามาก เนื่องจากปกติดอกของดอกดินสกุลเปราะเมื่อเหี่ยวเฉาจะมีสีขาว สีชมพูซีด ไม่ก็เป็นสีน้ำเงินม่วงเท่านั้น เบื้องต้นคิดว่าอาจจะเป็นเพียงความแปรผันทางพันธุกรรมของดอกดินชนิดที่เคยรู้จักก่อนหน้า จึงตัดสินใจติดต่อผู้ใช้ Facebook ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อขอตัวอย่างดอกดินปริศนามาศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2559 เมื่อเปรียบเทียบลักษณะทางสัณฐานวิทยาของดอกดินปริศนาที่ได้มากับดอกดินชนิดที่ใกล้เคียงกัน พบว่าขนาดดอกของดอกดินปริศนานั้นมีขนาดเล็กกว่าอย่างเห็นได้ชัด และดอกจะเปลี่ยนสีเป็นสีคล้ายสนิมเมื่อเหี่ยวเฉา แต่เนื่องด้วยดอกของดอกดินปริศนาจะเหี่ยวอย่างรวดเร็วและจำนวนตัวอย่างดอกที่ได้มานั้นไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถศึกษาและถ่ายภาพโครงสร้างดอกอย่างละเอียด ในส่วนของใบถูกไปสกัด DNA เก็บไว้สำหรับศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชนิดของดอกดินสกุลเปราะในอนาคต และต้องรอปีถัดมาเพื่อขอตัวอย่างดอกดินปริศนาเพิ่มเติม ปี พ.ศ. 2560 หลังจากได้รับตัวอย่างพืชเป็นปีที่สองได้ศึกษาโครงสร้างดอกอย่างละเอียดมากขึ้นจนสามารถเขียนคำบรรยายลักษณะได้ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมถึงได้นำเอาส่วนของปลายรากและดอกอ่อนมาศึกษาโครโมโซม และนำใบมาศึกษาขนาดจีโนม (Genome size) พบว่ามีความต่างอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับดอกดินชนิดที่มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาใกล้เคียงกัน

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2561 ได้รับการติดต่อจาก คุณธันย์ชนก สมหนู หรือ คุณกวาง ทีมงานสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมทำงานร่วมกันอยู่แล้ว ส่งภาพดอกดินชนิดหนึ่งมาให้ตรวจสอบและช่วยระบุชนิด ปรากฏว่าภาพดอกดินที่เห็นตรงกับดอกดินปริศนาจากอำเภอแม่สอด ที่เคยศึกษาก่อนหน้า จึงสอบถามรายละเอียดถึงแหล่งที่พบและประสานขอลงพื้นที่สำรวจในปี พ.ศ. 2562

การลงพื้นที่สำรวจภาคสนามนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับพืชกลุ่มนี้ เพราะถึงแม้จะทราบข้อมูลเบื้องต้นจากปีก่อนหน้าแล้วว่าดอกดินปริศนาชนิดนี้จะออกดอกในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม แต่ก็ไม่สามารถระบุวันที่ได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากการออกดอกของดอกดินสกุลเปราะขึ้นอยู่กับปริมาณฝนและความชื้นในอากาศและดินในแต่ละพื้นที่ ซึ่งถ้าเลือกเดินทางผิดช่วงวันเวลาถึงแม้จะถูกสถานที่ เราก็จะคลาดกับดอกของพืชที่ต้องการศึกษา จาก “ดอกดิน” ก็จะเหลือเพียง “ดิน” นอกจากนี้ดอกของดอกดินปริศนาจะเหี่ยวอย่างรวดเร็วทำให้เพิ่มระดับความยากต่อการสำรวจเพิ่มเข้าไปอีก ประกอบกับพื้นที่ป่าที่พบดอกดินชนิดนี้อยู่ใกล้เขตชายแดนประเทศพม่า จึงต้องวางแผนการสำรวจอย่างรอบคอบ ซึ่งทีมงานวางแผนการสำรวจ 2 วัน โดยในวันแรกทีมสำรวจเข้าไปถึงแหล่งที่อยู่ของดอกดินชนิดนี้เป็นเวลาประมาณ 13:00 น. ปรากฏว่าพบแต่ดอกเหี่ยวซึ่งมีสีคล้ายสนิม ไม่พบดอกบานสมบูรณ์แต่อย่างใด ซึ่งตรงตามข้อมูลที่ทราบก่อนหน้า จึงตัดสินใจที่จะสำรวจจำนวนประชากรและลักษณะพื้นที่ที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว พบว่าดอกดินชนิดนี้ขึ้นกระจายเป็นกลุ่มใกล้บริเวณน้ำตกและลำธาร ส่วนพื้นที่ป่ามีลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณผลัดใบ ในวันที่ 2 ของการสำรวจทีมงานเตรียมอุปกรณ์ชุดใหญ่สำหรับเก็บบันทึกบรรยากาศการบานของดอก โดยเริ่มออกเดินทางตั้งแต่ 5:00 น. จากที่พัก เดินเท้าขึ้นเขาเข้าป่าข้ามลำธารจนถึงแหล่งที่อยู่ของดอกดินปริศนา และสามารถเก็บบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอการบานของดอกดินชนิดนี้ได้ทันเวลาพอดี ในช่วง 6:00 – 7:00 น. โดยดอกดินชนิดนี้จะเหี่ยวทันทีภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ตั้งแต่ 7:00 น. หลังจากดอกบานสมบูรณ์เต็มที่ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของดอกดินชนิดนี้ จนนำไปสู่การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Kaempferia aurora Noppornch. & Jenjitt.” และให้ชื่อไทยว่า “ดอกดินอรุณรุ่ง” หรือ “ดอกดินสีสนิม”

ส่วนเปราะผาสุก (Kaempferia caespitosa) ซึ่งเป็นดอกดินสกุลเปราะอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับการบรรยายลักษณะทางสัณฐานวิทยาและระบุเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกชนิดล่าสุด โดยได้รับการติดต่อให้ช่วยระบุชนิดจากคุณกวาง ซึ่ง ณ ขณะนั้นคุณวรนุช ละอองศรี หรือ คุณฝน นักวิจัยประจำสวนพฤกษศาสตร์ฯ เป็นหัวหน้าทีมลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้จากแหล่งที่อยู่ของเปราะผาสุกที่ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ในปี พ.ศ. 2559 แล้วส่งต่อเก็บรักษาไว้ในโรงเรือนพืชหายากที่สวนพฤกษศาสตร์ฯ เมื่อครั้งแรกเห็นดอกของเปราะผาสุก พบว่าลักษณะดอกคล้ายคลึงกับดอกของเปราะราตรีเป็นอย่างมาก แต่เมื่อสังเกตเวลาการบานของดอกแล้ว กลับกลายเป็นว่าดอกของเปราะผาสุกนั้นบานตอนเช้า ตรงกันข้ามกับเปราะราตรี นอกจากนี้ลำต้นเทียมของเปราะผาสุกมีลักษณะที่เฉพาะตัว กล่าวคือลำต้นใต้ดินเพียงเหง้าเดียวสามารถสร้างลำต้นเทียมได้หลายต้น แตกต่างจากดอกดินสกุลเปราะชนิดอื่น ๆ ที่ ลำต้นใต้ดิน 1 เหง้าจะมีลำต้นเทียมเพียง 1 ต้นหรือ 2 ต้นเท่านั้น จากการสำรวจในหลากหลายพื้นที่พบว่าดอกดินสกุลเปราะชนิดนี้เป็นพืชหายากและถิ่นเดียว (endemic species) พบในพื้นที่จำกัดเฉพาะในภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น เบื้องต้นจึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก และเมื่อตรวจสอบขนาดจีโนมอย่างละเอียด พบว่าเปราะผาสุกมีขนาดจีโนมที่แตกต่างชัดเจนจากดอกดินที่มีลักษณะใกล้เคียงโดยเฉพาะเปราะราตรี จึงนำไปสู่กระบวนการการระบุเป็นชนิดใหม่ตามที่สันนิษฐานไว้ และระบุชื่อวิทยาศาสตร์เป็น “Kaempferia caespitosa Noppornch. & Jenjitt.” ซึ่งมาจากคำว่า “caespitose” แปลว่า การแตกกอแบบกระจุก

สำหรับการศึกษาต่อยอดเนื่องจากดอกของดอกดินอรุณรุ่งมีระยะเวลาการบานที่สั้นมากเมื่อเทียบกับดอกดินสกุลเปราะชนิดอื่น ๆ แต่ในธรรมชาติดอกดินชนิดนี้กลับสามารถผลิตเมล็ดจำนวนมากอย่างน่าแปลกใจ จากการสังเกตชีพลักษณ์การบานของดอกในแหล่งที่พบระยะเวลาสั้น ๆ พบว่ามีแมลงกลุ่มผึ้งมาปฏิสัมพันธ์ด้วย ทำให้อยากจะศึกษาเรื่องแมลงผสมเกสรเพิ่มเติม นอกจากนี้การศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับสีของดอกที่เปลี่ยนเป็นสีสนิมเมื่อเหี่ยวก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจอย่างมาก ส่วนเปราะผาสุกตั้งใจจะศึกษาเรื่องแมลงผสมเกสรเพิ่มเติมเช่นกัน ซึ่งจากการสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับแมลงที่มามีปฏิสัมพันธ์กับดอกดินสกุลเปราะที่มีดอกสีขาว พบเพียงผีเสื้อกลางคืนเท่านั้น แต่ยังขาดข้อมูลแมลงผสมเกสรของเปราะผาสุกซึ่งบานช่วงเช้า โดยสรุปแล้วสนใจศึกษาด้านชีววิทยาการถ่ายละอองเรณู โดยเน้นศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างแมลงผสมเกสรของดอกดินสกุลเปราะกลุ่มดอกสีขาว รวมถึงดอกดินอรุณรุ่ง นอกจากนี้ยังได้วางแผนศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชนิดเพื่อตรวจสอบความหลากหลายทางพันธุกรรมและขอบเขตชนิดของพืชกลุ่มดอกดินสกุลเปราะในประเทศไทยโดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากสารพันธุกรรมระดับ DNA และโครโมโซม รวมกับลักษณะทางสัณฐานวิทยาต่อไปในอนาคต

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
นักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตรวจสอบโดย: ณัฐพล นพพรเจริญกุล
นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพโดย: ณัฐพล นพพรเจริญกุล
นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม