เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา หน่วยพัฒนาธุรกิจ งานพันธกิจพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรม Business Talk Series by BDU หัวข้อ “Tech Planter in Thailand 2017” โดย บริษัท Leave a Nest ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นองค์กรที่มองหาความร่วมมือในการสร้างสรรค์ธุรกิจจากผลงานนวัตกรรม นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดเสนอผลงานนวัตกรรมและแผนธุรกิจทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติเพื่อแข่งขันชิงเงินรางวัลอีกด้วย
ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ธนากร โอสถจันทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผู้แทนคณบดีกล่าวเปิดงานและต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมในช่วงแรก บริษัท Leave a Nest Co,. Ltd. โดย Dr.Hiroyuki Doi และ Miss.Nami Akinaga ได้นำเสนอข้อมูลเพื่อการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีปัจจัย 4 อย่างเข้ามาประกอบกันได้แก่ Novelty, Practicability, Society และ Passion มาช่วยในการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ในลำดับต่อมาเป็นกิจกรรมการแบ่งปันประสบการณ์จากบุคลากรและนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันและได้รับรางวัลในปี 2559 ดำเนินรายการโดยคุณคุณเสฏฐวุฒิ แก้ววิเศษ (งานความร่วมมือระหว่างประเทศ)
โดยในช่วงแรกเป็นการนำเสนอของทีม Enzmart ชื่อผลงาน Thermostable and cheaper luciferase as gene reporter โดย ศ.พิมพ์ใจ ใจเย็น ภาควิชาชีวเคมี และคณะ ได้รับรางวัลที่ 3 และรางวัลพิเศษจากบริษัท Leave a Nest ให้เข้าร่วมงาน Tech Planter Grand Prix ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ดร.รัชนก ตินิกุล เป็นผู้มาร่วมแบ่งปันข้อมูลในวันดังกล่าว
ทีมที่ 2 ได้แก่ทีม N-BMR ชื่อผลงาน Innovative application of gold nanoparticles for wound healing โดย ผศ.ดาครอง พิศสุวรรณ หน่วยสหสาขาวิชา งานพันธกิจพิเศษ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวด Tech Planter ของประเทศไทย ทำให้มีโอกาสได้เดินทางไปประกวด รอบ Semi Final ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ในเดือนกรกฎาคม 2559
ทีมที่ 3 ได้แก่ทีม Nose4En ชื่อผลงาน Electronic Nose โดย ผศ.ธีรเกียรติ เกิดเจริญ ภาควิชาฟิสิกส์ และคณะ จากบริษัท Electronic Nose Co. ,Ltd. มี Products ประเภท IoT ทาง Leave a Nest Co., Ltd. จึงได้ติดต่อให้ลองสมัครโครงการของ HIDA เรื่อง "Training Program for Improving the Business Environment related to Trade and Investment" เพื่อไปอบรมแผนธุรกิจ ซึ่งประสบความสำเร็จได้รับการคัดเลือก (เป็นบริษัทสตาร์ทอัพของไทยเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับการคัดเลือก) เป็น 1 ใน 10 ของ ASEAN Startups ซึ่งนายธีรภัทร์ พบครุฑ นักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรฟิสิกส์ เป็นผู้มาร่วมแบ่งปันข้อมูล
กิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากอาจารย์ นักศึกษาระดับปริญญาโท - เอก บุคลากรในหน่วยงานคณะฯ และหน่วยงานอื่น เข้าร่วมกิจกรรมถึง 73 คน ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินกิจกรรมการต่อยอดแนวความคิด การพัฒนาระบบการศึกษา และการวิจัยสู่นวัตกรรมการใช้เทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความสมดุลของชีวิตประชากรโลก และสามารถนำองค์ความรู้ด้านการศึกษาและวิจัยไปต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต (Start Up Thailand) ได้ต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อมูลจากหน่วยพัฒนาธุรกิจ งานพันธกิจพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ถ่ายภาพ : นายเทพทัต คุ้มสังข์
ข้อมูล : หน่วยพัฒนาธุรกิจ
งานพันธกิจพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร