logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2555

 

MUSC Research Forum ครั้งที่ 3 : MUSC Innovation

เมื่อวันอังคารที่ 13 มีนาคม 2555 งานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม MUSC Research Forum ครั้งที่ 3/2555 ในหัวข้อ MUSC Innovation ระหว่างเวลา 14.30 - 17.00 น. ณ ห้องประชุม อาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการวิจัยจากนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์การทำวิจัยสู่นวัตกรรมที่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยมี ศ.ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และหัวหน้าหน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU:CRC) เป็นวิทยากร นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “Research and Development for Acellular Pertussis Vaccine” และ รศ.ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย ภาควิชาเคมี นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “Utilisation of Pineapple Leaf Agro-Waste for Value Added and Green(er) Plastic Products” ซึ่งได้บรรยายเกี่ยวกับการนำเอาเส้นใยผสมกับผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อนำไปพัฒนาเป็นวัสดุทดแทนพลาสติกสังเคราะห์ นอกจากนี้ ยังมี ศ.ดร.วิชัย ริ้วตระกูล ภาควิชาเคมี และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี (PERCH-CIC) นักวิจัยอาวุโสที่มีประสบการณ์ด้านการวิจัยสูงมาก ได้บรรยายถึงแนวทางของการทำวิจัยไปสู่นวัตกรรมที่สามารถนำไปสู่เชิงพาณิชย์ และยังฝากแง่คิดถึงการทำวิจัยไปสู่นวัตกรรมว่า “Good innovation come from good researcher, There is no way out without good ideas” นวัตกรรมที่ดีมาจากงานวิจัยที่ดี แต่จะไม่สามารถทำได้หากปราศจากความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ รศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ได้แจ้งกับผู้เข้าร่วมประชุมว่าได้เข้าร่วมการประชุมวิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติรายสาขา ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 มีนาคม 2555 โดยทางงานวิจัยได้จัดทำสำเนาร่างยุทธศาสตร์การวิจัยของ วช. แจกผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน เพื่อให้รับทราบถึงแนวทางยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ ที่ใช้เป็นกรอบแนวทางเขียนโครงการของบประมาณสนับสนุนจากทางรัฐบาล

           หลังจบกิจกรรมครั้งนี้นักวิจัยและผู้เข้าร่วมประชุมได้รับประทานอาหารร่วมกันเพื่อสร้างบรรยากาศให้นักวิจัยมีความคุ้นเคยและเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากอาจารย์ ทั้งรุ่นใหม่ รุ่นกลาง อาวุโส และอาจารย์ชาวต่างประเทศ รวมทั้งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก เป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 130 คน