logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2553

 

ศูนย์ความร่วมมือมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยจิบะ ประเทศญี่ปุ่น

วันพุธที่ 10 มีนาคม 2553 เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายความร่วมมือต่างประเทศ คณะวิทยาศาสตร์ ห้อง RF ชั้น 1 ตึกเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานในการเปิดที่ทำการของศูนย์ความร่วมมือมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยจิบะ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับ Prof. Yasushi Saito อธิการบดีมหาวิทยาลัยจิบะ ประเทศญี่ปุ่น

International Exchange Center – Mahidol University – Chiba University เริ่มต้นมาจากความร่วมมือด้านวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากร นักศึกษา ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับ Faculty of Horticulture, Chiba University เมื่อ พ.ศ. 2543 ต่อมามีการลงนามความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับ Graduate School of Pharmaceutical Sciences มหาวิทยาลัยจิบะ ในปี 2546 จนพัฒนามาเป็นความร่วมมือระดับมหาวิทยาลัย โดยในปี พ.ศ. 2551 คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์ มงคลสุข และคณะฯ ได้เป็นตัวแทนเพื่อนำสัญญาความร่วมมือที่ลงนามโดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เดินทางไปร่วมพิธีลงนามในสัญญาความร่วมมือระดับมหาวิทยาลัย ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ Chiba University หลังจากนั้นไม่นาน ทั้งสองสถาบันได้ร่วมกันเปิดหลักสูตรปริญญาเอกสาขาเทคโนโลยีชีวภาพนานาชาติและHorticulture แบบ Double Degree Program โดยเมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้ว ผู้เรียนจะได้รับปริญญาเอก สองใบ ไทย - ญี่ปุ่น

นอกจากความร่วมมือดังกล่าวแล้ว ทั้งสองสถาบันยังได้ร่วมกันจัดกิจกรรมความร่วมมือมากมายหลายด้าน

1. ความร่วมมือด้านการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และการแลกเปลี่ยนบุคคลากร
มีการจัด International Symposium จัดกิจกรรม workshop จัดการเรียนการสอนและการสัมมนาผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับ Faculty of Horticulture, Chiba University และการจัดสัมมนาร่วมเชิงวิชาการประจำปีระหว่างนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งสองในสาขาวิทยาศาสตร์และเภสัชศาสตร์ เป็นต้น

2. ความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และการให้ทุนนักศึกษา
มีการส่งนักศึกษาไทยระดับปริญญาตรี ปริญญาโท – เอก ไปทำวิจัยระยะสั้น มีการให้ทุนนักศึกษาระดับปริญญาเอกด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbusho) และรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของ Graduate School of Horticulture, Chiba University มาทำวิจัยระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล (2-6 เดือน) เป็นต้น

3. ความร่วมมือด้านการวิจัย
ปัจจุบันทั้งสองสถาบัน มีความร่วมมือด้านการวิจัยโปรโตพลาสต์ของพืชสมุนไพร ด้านการวิจัยข้าวทนเค็ม การวิจัยไม้ผลเมืองหนาว ความร่วมมือด้านเภสัชศาสตร์ และยังมุ่งเน้นขยายความร่วมมือไปด้านอื่นๆ เช่น การแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น

ในอนาคต ศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนบุคคลากร ตลอดจนความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การให้ทุนนักศึกษา และความร่วมมือด้านการวิจัยด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินการพัฒนาหลักสูตรปริญญาเอกร่วม 2 สถาบัน (Dual Degree) ในสาขาอื่น ๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการก้าวไปสู่การประสานงานเพื่อขยายความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซี่ยนในอนาคตต่อไป