ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ ‘Impact of COVID-19 to Our lives: What to consider for a future career’ พูดคุยแนะนำการปรับตัว upskill และ reskill พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรับมือกับ New normal กับ 4 วิทยากรซึ่งเป็นศิษย์เก่า อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และผู้เชี่ยวชาญตัวจริงจากเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมด้านการเกษตร เคมี อาหาร รวมถึง วิทยาการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลได้มุ่งเป้าเพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนาประเทศ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฎฐวี เนียมศิริ และ อาจารย์ ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี ในวันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2563 เวลา 14:00 – 15:30 น.
ในการเสวนาวิทยากรครั้งนี้ทั้ง 4 ท่าน ซึ่งเป็นผู้บริหารในองค์กรชั้นนำ โดย ดร.กนกวรรณ ชดเชย CEO จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Asia and Pacific Seed Alliance หรือ APSA ดร.ณัชชา วงส์ทองดี Technical Lead-Asia Pacific, Nutrition and Nutraceuticals ของบริษัท Ashland (Thailand) Co., Ltd ซึ่งเป็นบริษัททางด้าน Food Additives ที่ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา Dr. Magnus Bergkvist, Head of Science and Research at Global Innovation Centre (GIC) main R&D center for Thai Union PCL และ อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (Excellent Center for Drug Discovery) หรือ ECDD ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ค้นพบคุณสมบัติของกระชายขาวในการต้าน COVID-19 ได้แลกเปลี่ยนวิธีการรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเนื่องจากวิฤกต COVID-19 ว่ามีจุดร่วมสำคัญในการปรับตัวให้เข้ากับ New normal คือ การยอมรับปัญหาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจและวางแผนในการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรม หรือการทำงาน ประสานงานให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ แต่ขณะที่บางกิจกรรมที่ไม่สามารถออนไลน์ได้ เช่น การวิจัยหายา วัคซีนเพื่อรักษา COVID-19 ก็มีการออกมาตรการความปลอดภัยรองรับผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนั้นความช่วยเหลือจากองค์กร การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม รวมถึงความเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ก็มีส่วนช่วยอย่างมากในการทำงานท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งการฝึกฝนทักษะเหล่านี้มาจากการบ่มเพาะและสั่งสมประสบการณ์ในสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย และวิทยากรยังได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของความสำคัญของวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพด้วยว่า เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาการผลิตอาหาร ยา ฯลฯ ที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติได้
นอกจากนั้น ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ยังได้นำเสนอโครงการวิจัยที่ครอบคลุม 4 ด้านหลักที่เป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ งานวิจัยด้านวิทยาการทางการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ งานวิจัยด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร การนำเทคโนโลยีชีวภาพมาพัฒนาอาหารให้มีคุณสมบัติที่ตอบโจทย์สุขภาพมากขึ้น และการทำงานด้านวิศวกรรมกระบวนการ ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์เชื้อจุลินทรีย์ และกระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น วัคซีน เอนไซม์ การแปรรูปวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การผลิตสารเคมี การกำจัดสารเคมีอันตรายด้วยจุลชีพหรือแบคทีเรีย รวมถึงการแปรรูปวัตถุดิบเหลือใช้เป็นพลังงาน พร้อมแนะนำหลักสูตรที่เปิดสอนซึ่งตอบโจทย์ต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน รวมถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับโลก และเครือข่ายภาคเอกชนอีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/muscbt/videos/339995210300785/
ตรวจสอบโดย: นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
เขียนข่าว: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ภาพกิจกรรม: นางสาวจิรนันท์ นามั่ง, นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: นางสาวเฉิดฉันทร์ ราชบุรณะ