เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2555 เวลา 13.00 - 16.30 น. ณ ห้องประชุม อาคารสตางค์ มงคลสุข งานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม MUSC Research Forum ครั้งที่ 5/2555 ในหัวข้อ MUSC Grant Hunting โดยได้รับเกียรติจาก คุณครรชิต พุทธโกษา ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเรื่อง “ทิศทาง นโยบาย และยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ” ซึ่งได้บรรยายในประเด็นของการปฏิรูประบบวิจัยของชาติ กรอบการวิจัยสำคัญเร่งด่วน การประเมินผลการวิจัย และการเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยใช้นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2555-2559) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการวิจัย และใช้เป็นกรอบทิศทางในการจัดทำและประเมินข้อเสนอการวิจัยของหน่วยงานภาครัฐ “ที่เสนอของบประมาณ” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความสุข ความปลอดภัย และประเทศสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่ง วช. ได้วางกรอบเพื่อการพัฒนาระบบวิจัยของประเทศ เพื่อให้สามารถตอบสนองวิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยให้คำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้ 1. กลไกและโครงสร้างร่วมกำหนดและจัดการนโยบายการวิจัย 2. การจัดการสนับสนุนทุนวิจัย 3. การระดมทุนทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการวิจัย 4. การพัฒนาองค์กรและหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน 5. กลไก และโครงสร้างเพื่อพัฒนานักวิจัย 6. การจัดวางโครงสร้างพื้นฐานวิจัย (Research Infrastructure) 7. มาตรฐานการวิจัย 8. การติดตามประเมินผล 9. กลไกส่งเสริมผลงานวิจัยสู่นวัตกรรม
โดยในปีงบประมาณ 2556 วช. วางกรอบงานวิจัย 19 กลุ่มเรื่องเร่งด่วน ไว้ดังนี้ 1.เศรษฐกิจพอเพียง 2.ความมั่นคงและวัฒนธรรมของรัฐ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล 3.ปฏิรูปการศึกษาและสร้างสรรค์การเรียนรู้ 4.ภาวะโลกร้อนและงานนโยบายพลังงานทางเลือกเพื่อลดภาวะโลกร้อน 5.การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร 6.สัตว์เศรษฐกิจ 7.สุขภาพและชีวศาสตร์ 8.การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ 9.เทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีที่สำคัญเพื่ออุตสาหกรรม 10.สังคมผู้สูงอายุ 11.การบริหารและการจัดการการท่องเที่ยว 12.วัสดุย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 13.โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 14.ข้าว 15.มันสำปะหลัง 16.ยางพารา 17.อ้อยและน้ำตาล 18.อาหาร 19.การคมนาคมขนส่งระบบราง
นอกจากนี้ คุณครรชิต พุทธโกษา ได้ทิ้งท้ายข้อแนะนำถึงการเขียนโครงการวิจัยอย่างไรให้ได้ทุน โดยมีหลักสำคัญ 4 ข้อ ดังนี้ 1. เขียนโครงการวิจัยให้ตรงตามยุทธศาสตร์ของแหล่งทุนนั้นๆ 2. ใช้แบบฟอร์มขอทุนให้ถูกต้อง 3. ส่งให้ตรงเวลา 4. เน้นการวิจัยให้สามารถเกิดผลผลิต และยังได้แนะนำเว็บไซค์คลังข้อมูลงานวิจัยไทย TNRR: Thai National Research Repositoryซึ่งเป็นระบบที่รวบรวมโครงการวิจัยจากทุกหน่วยงานในประเทศไทย ในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง วช. สกว. สวทช. สวทน. สวรส. สวก. จัดทำโดยคณะทำงานเพื่อพัฒนาและบูรณาการระบบข้อมูลวิจัยของประเทศ พ.ศ. 2554 ซึ่งกำลังอยู่่ในระหว่างพัฒนา
หลังจบกิจกรรมครั้งนี้นักวิจัยและผู้เข้าร่วมประชุมได้รับประทานอาหารร่วมกันเพื่อสร้างบรรยากาศให้นักวิจัยมีความคุ้นเคยและเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากอาจารย์ ทั้งรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และอาวุโส รวมทั้ง นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก เป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน
สามารถดูรายละเอียดสรุปประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม "การปฏิรูประบบวิจัยของชาติ"โดย คุณรุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ