logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2553

 

มหิดล เปิดตัวโครงการพัฒนาการสอนคณิตศาสตร์ โดยใช้ซอฟต์แวร์ Mathematica ครั้งแรกในไทย

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม K 102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล พญาไท ศ. ดร. ศกรณ์  มงคลสุข คณบดี  ผศ.ชัยวัฒน์ มณีสว่าง หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ และ ดร.บริบูรณ์  เนาวประทีป ร่วมกันแถลงข่าว เปิดตัวโครงการพัฒนาการสอนคณิตศาสตร์ โดยใช้ซอฟต์แวร์ Mathematica ครั้งแรกในไทย

มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ ซื้อ License ซอฟต์แวร์ Mathematica เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่นักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชศาสตร์ สัตวแพทย์และ วิทยาศาสตร์

ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ได้มีการปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐาน โดยให้ครอบคลุมเนื้อหาเท่าเดิมแต่ใช้เวลาน้อยลง และที่สำคัญยังต้องคงมีคุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อให้มีโอกาสในการเรียนวิชาชั้นสูงมากขึ้น เป็นการนำความรู้ไปสู่ความเป็นเลิศในด้านการเรียนการสอนซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดล และคณะวิทยาศาสตร์

วิชาคณิตศาสตร์นอกจากจะเป็นวิชาหลักในการเรียนของนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์และการแพทย์แล้ว การมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในด้านคณิตศาสตร์ทำให้มีทักษะในการแก้ปัญหาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดีด้วย ในอดีตที่ผ่านมาการถ่ายทอดความรู้ด้านคณิตศาสตร์ถูกจำกัดอยู่บนกระดาน บนแผ่นใส ทำให้การเรียนรู้อาจมีข้อจำกัดในเรื่องการคำนวณที่ซับซ้อนและการแสดงผลเป็นรูปภาพหรือที่เรียกว่า Visualization ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล และคณะวิทยาศาสตร์ตระหนักถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี จนกระทั่งในปีการศึกษานี้ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงสนับสนุนให้คณะวิทยาศาสตร์ นำร่องโครงการนี้

Mathematica เป็นซอฟต์แวร์ในกลุ่มที่สามารถทำการคำนวณเชิงสัญลักษณ์ได้  จึงอยู่คนละระดับกับเครื่องคิดเลขและโปรแกรมในกลุ่มที่ทำการคำนวณเชิงตัวเลข ทั้งในแง่ความละเอียด และความฉลาด นอกจากสนับสนุนเรื่องการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้อาจารย์สามารถแสดงตัวอย่างได้ชัดเจนและรวดเร็วขึ้น ลดเวลาการตรวจคำตอบให้นักศึกษาของอาจารย์ลง เนื่องจากนักศึกษาสามารถเช็คคำตอบเองได้ นักศึกษายังสามารถใช้โปรแกรมนี้เป็นเครื่องมือในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง ทำให้มีความมั่นใจในการทำโจทย์ การหาคำตอบ  ทำความเข้าใจ ค้นคว้าเชิงลึก เป็นพื้นฐานในการทำวิจัย และสร้างนักวิจัยต่อไป

ในแง่ของการแสดงผล Mathematica สามารถแสดงผลออกมาเป็นรูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว ภาพสามมิติ ซึ่งหลายๆ สิ่งในคณิตศาสตร์และความเป็นจริง จะเกิดขึ้นในมิติมากกว่าสอง เช่น การแสดงผลที่เปลี่ยนไปตามเวลา หรือเปลี่ยนตามตัวแปร และ สำหรับโจทย์ที่ยุ่งยาก ที่ต้องคำนวณซ้ำ สามารถเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมได้ อีกด้วย

จึงมีความหลากหลายของการประยุกต์ใช้ ทำให้สามารถนำไปสร้างเป็นสื่อการเรียนการสอน การคำนวณที่ซับซ้อน ซึ่งจัดเป็นเครื่องมือพื้นฐานของการผลิตงานวิจัยทั้งเชิงทฤษฎีและประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยในการคาดการณ์ในการวิจัยเชิงทฤษฎี และด้วยเทคโนโลยีทางด้านอินเตอร์เน็ตประกอบกับความสามารถของโปรแกรม Mathematica นี้ ทำให้การประยุกต์ใช้กับวิชาด้านอื่นๆ เป็นไปได้อย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ทางด้าน คณิตศาสตร์เท่านั้น ยังสามารถขยายไปในด้าน ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา สถิติ และสาขาวิชาอื่นๆ สังคม เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เป็นต้น