วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2560 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิด การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 49 (The 49th International Chemistry Olympiad) ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดนครปฐม โดยมี หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) รองศาสตราจารย์ ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์เย็นใจ สมวิเชียร กรรมการและเหรัญญิก สอวน. นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร มหาวิทยาลัยมหิดล เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ภายในงาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร รองประธานมูลนิธิ สอวน. ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทูลเกล้าถวายเหรียญที่ระลึก ลำดับต่อมา Chairman of IChO Steering Committee กราบบังคมทูลความเป็นมาของการจัดการแข่งขัน และผู้อำนวยการ สสวท. ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ กราบบังคมทูลรายงาน และกราบบังคมทูลเบิกผู้ให้การสนับสนุนจัดการแข่งขันฯ เข้ารับพระราชทานโล่ จำนวน 3 ราย หลังจากนั้นพิธีกรกราบบังคมทูลเชิญทอดพระเนตร การแนะนำนักเรียนผู้เข้าแข่งขันแต่ละประเทศจำนวน 76 ประเทศ
หลังจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 49 โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า "ในช่วงเวลาหลายวันต่อไปจากนี้ นอกเหนือจากความตั้งใจแน่วแน่กับการแข่งขัน ขอให้ทุกท่านถือเอาโอกาสนี้เป็นการสร้างเสริมความสามารถและประสบการณ์ของท่าน ในปี พ.ศ. 2560 นี้ทางโอลิมปิควิชาการสากล ได้ถือเป็นปีแห่งความหลากหลายและความคิดเห็นที่ตรงกัน ซึ่งความสนใจร่วมกันในศาสตร์ทางด้านเคมีนี้แสดงให้เห็นถึงพันธะที่เชื่อมโยงความแตกต่างและหลากหลายของพวกเรา ซึ่งนำไปสู่การสร้างความผูกพันของโลกใบนี้ของเราด้วยเคมี การจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิคระหว่างประเทศในปีนี้ ถึงแม้จะเป็นเพียงระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ แต่ก็เป็นการสร้างความผูกพันระหว่างเราที่จะยืนยาวตลอดชั่วชีวิต รวมถึงมิตรภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะเป็นพลังด้านบวกในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ การแข่งขันในครั้งนี้จะเป็นจุดที่สำคัญในชีวิตเพื่อก้าวสู่ความยอดเยี่ยมในด้านวิชาการของท่านและในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจวัฒนธรรมต่างๆ และขอให้ถือโอกาสนี้เป็นช่วงเวลาของการสำรวจเรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจต่างๆในประเทศไทยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน"
หลังจากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เรื่อง “Chemistry in the Royal Innovation of King Rama IX” เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระมหากษัตริย์ ที่ทรงใช้ศาสตร์วิชาการด้านเคมี ไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหา และวางรากฐานการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการพระราชดำรินำเสนอผ่านตัวอย่างของโครงการในพระราชดำริ ของพระองค์ท่าน 3 โครงการ ได้แก่ “โครงการฝนหลวง” “โครงการแกล้งดิน” และ “โครงการไบโอดีเซล” ซึ่งจะอยู่ทั้งในรูปแบบของนิทรรศการ และวีดิทัศน์ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เรื่อง “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์” เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงเจริญพระชนมายุ 60 ปี ในวันที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2560นี้ ณ บริเวณโถง มหิดลสิทธาคาร และทรงฉายพระรูปร่วมกันคณะผู้จัดงาน ประกอบด้วยกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถ้มภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) และ สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
การแข่งขันเคมีโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ครั้งที่ 49 (The 49th International Chemistry Olympiad) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นความสนใจของนักเรียนในศาสตร์ทางเคมีผ่านการแก้ปัญหาโจทย์เคมีอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับเคมีระหว่างนานาชาติ การสร้างมิตรภาพระหว่างเยาวชนที่สนใจวิทยาศาสตร์จากประเทศต่างๆ การร่วมมือกันระหว่างนักเรียน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนเคมีหรือประสบการณ์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เคมี มีประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขั้น 76 ประเทศ มีจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 528 คน ทำการ ณ ตึก SC-4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แข่งขันทั้งสิ้น 10 วัน และจะมีการมอบรางวัลและพิธีปิดการแข่งขันในวันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2560 ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อไป
เหรียญที่ระลึกจัดทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ถ่ายภาพ : ทีมงานคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เขียนข่าว : นางสาวนันท์มนัส วิมลเศรษฐ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร