โคอาล่า เพนกวิน กระถิน และงานวิจัยสมุนไพรของผม
สมธนึก โชติช่วงฉัตรชัย
M. Sc. (Plant Science) International Program
หลักสูตรร่วมคณะวิทยาศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผมได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ ในงาน The XVIII International Botanical Congress จัดขึ้นที่เมือง Melbourne ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 23-30กรกฏาคม 2011 ซึ่งเป็นการประชุมนักพฤกษศาสตร์ที่นับได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุกๆ 6 ปี ครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1900 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 19 มีผู้เข้าร่วมงานประชุมมากถึง 2,027 คน มี oral presentation 951 ผลงาน และ poster presentation ทั้งแบบปกติและแบบ ePoster ถึง 834 เรื่อง มีคนไทยจากสถาบันต่างๆ เข้าร่วมงานนี้ 13 คน จากมหาวิทยาลัยมหิดล มี 2 คน คือผม และอาจารย์ ดร. ศศิวิมล แสวงผล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จากหลักสูตรวิทยาการพืชเช่นเดียวกัน
เป็นครั้งแรกที่ผมได้ร่วมงานประชุมระดับนานาชาติในต่างประเทศ การได้ไปร่วมงานประชุมครั้งนี้ทำให้ได้เข้าฟังการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องต่างๆ จากทั่วโลก เรียนรู้ประเด็นวิจัยที่กำลังเป็นที่สนใจของนักพฤกษศาสตร์ในปัจจุบัน ได้พบได้เห็นอะไรที่กว้างขึ้นไปอีก สำหรับผมเอง ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง Medicinal plants used in Thai traditionalmedicine: a case study in Kapchoeng Hospital, Surin Province, Thailand ในกลุ่ม Traditional medicinal plants ห้องบรรยาย Plants in society โดยผู้สนใจที่เข้าฟัง เป็นผู้ที่ทำงานวิจัยด้านเภสัชพฤกษศาสตร์ ชุมชน พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น มาจากหลากหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย จีน บังคลาเทศ อิหร่าน มาเลเซีย ฯลฯ ผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิจัยหลายท่าน ทั้งที่เป็นอาจารย์ และนักศึกษา
สำหรับประเทศออสเตรเลียนั้น อยู่ในซีกโลกใต้ จึงมีฤดูกาลสลับกับทางซีกโลกเหนือ ช่วงที่พวกเราไปร่วมประชุม เรียกได้ว่าอยู่กลางฤดูหนาว แต่เมลเบิร์นเป็นเมืองที่มีอากาศดีเกือบตลอดปี ไม่หนาวมาก ไม่ร้อนมาก อากาศจึงเย็นสบาย และดอกกระถินโกลเดน วัตเทิล (Golden WattleหรือAcacia pycnantha Benth.) ดอกไม้สัญลักษณ์ของประเทศออสเตรเลีย กำลังบานสวย เห็นเป็นพุ่มสีเหลืองทองทั่วไป เมลเบิร์นถือเป็นเมืองแห่งพรรณไม้ มีต้นไม้ปลูกประดับถนนหนทางสวยงาม มีการจัดตกแต่งสวนในหลายพื้นที่ จนได้รับสมญานามว่าเป็น The Garden City ช่วงที่ว่างจากการประชุม ผมจึงถือโอกาสเดินดูเมือง และ Royal Botanical Garden สวนพฤกษศาสตร์ของเมือง ซึ่งมีพันธุ์ไม้ต่างๆ มากมายที่แตกต่างไปจากพันธุ์ไม้เมืองร้อนอย่างเมืองไทย นอกจากนี้ก่อนเดินทางกลับยังได้มีโอกาสไปดูโคอาล่า และนกเพนกวินที่ Phillip Island Nature Park ได้ไปเห็นสัตว์เหล่านี้ในสภาพธรรมชาติที่ได้รับการอนุรักษ์และดูแลเป็นอย่างดี ในการเดินทางไปเสนอผลงานในครั้งนี้ เป็นโอกาสในการเรียนรู้ทั้งประสบการณ์ทางวิชาการที่ได้ทำให้เห็นอะไรที่ใหม่กว่า กว้างกว่าที่เคยได้รู้ ได้เห็นวิธีการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจจากนักวิจัยหลายท่าน และประสบการณ์ตรงที่ได้นำเสนอผลงานแบบบรรยาย อีกทั้งประสบการณ์น่าประทับใจที่ได้สัมผัสผู้คน เมือง และสิ่งแวดล้อมสวยงาม ขอขอบพระคุณ ผศ. ดร. ทวีศักดิ์ ธิติเมธาโรจน์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เอื้อเฟื้อที่พักในวันแรกๆ ขอบคุณหลักสูตรวิทยาการพืช โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ Australian Systematic Botany Society (ASBS) ที่ให้ทุนสนับสนุนการไปเสนอผลงานต่างประเทศ รวมทั้ง รศ. ดร. สมภพ ประธานธุรารักษ์ อาจารย์ที่ปรึกษา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่สนับสนุนทุนวิจัยและการนำเสนอผลงาน (TRF-MAG window I) ประสบการณ์ที่ได้รับนี้ ผมจะนำมาพัฒนาตนเองและงานวิจัยให้ดียิ่งขึ้น