logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2563

 

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว ฝันให้ไกล: งานวิจัยสู่ แอนตาร์กติกา
(Aim Far: Research in Antarctica led by Mahidol University)

คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล นำงานวิจัยสู่แอนตาร์กติกา เผยภารกิจปรับปรุงและดูแลอุปกรณ์วัดรังสีคอสมิก (อนุภาคจากอวกาศ) ด้วยอิเล็กทรอนิกส์พิเศษ และเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลที่คณะนักวิจัยได้ริเริ่มและพัฒนาขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในการแถลงข่าว ฝันให้ไกล: งานวิจัยสู่ แอนตาร์กติกา (Aim Far: Research in Antarctica led by Mahidol University) ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ในวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 10:30 น. – 12:00 น.

คณะผู้วิจัยนำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เสนอโครงการ Cosmic ray monitoring at Mawson and Kingston to study space weather and space physics ชิงทุนระยะเวลา 10 ปี จาก Australian Antarctic Division (AAD) ดำเนินการศึกษาสภาพอวกาศและผลกระทบ โดยส่ง 2 นักวิจัย อ. ดร.อเลฮานโดร ซาอิส ริเบรา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ และนายประดิพัทธ์ เหมืองห้า นักศึกษาระดับปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ เป็นผู้นำเทคนิคใหม่ที่คณะผู้วิจัยพัฒนาในประเทศไทย ไปใช้ติดตั้งอุปกรณ์วัดรังสีคอสมิก (อนุภาคจากอวกาศ) พร้อมปรับปรุงอิเล็กทรอนิกส์ที่วัดสัญญาณรังสีคอสมิกให้สามารถวัดจำนวนและพลังงานเฉลี่ยของรังสีคอสมิกได้อย่างแม่นยำ ณ สถานี Mawson ซึ่งตั้งอยู่ที่แอนตาร์กติกา พร้อมศึกษาการวิเคราะห์ข้อมูลรังสีคอสมิกที่ Kingston ประเทศออสเตรเลีย อีกด้วย

H.E. Mr.Allan McKinnon PSM เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ผู้แทนรัฐบาลออสเตรเลีย ได้แสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยมหิดล และชื่นชมคณะผู้วิจัยถึงศักยภาพที่โดดเด่นในการขอรับการสนับสนุนการวิจัยระยะยาวจาก Australian Antarctic Division (AAD) ซึ่งมีการแข่งขันสูงเป็นอย่างมาก พร้อมเพิ่มเติมว่า ประเทศออสเตรเลียมีประวัติศาสตร์ด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในทวีปแอนตาร์กติกมายาวนานกว่า 65 ปี โดยเริ่มก่อตั้งฐานปฏิบัติการวิจัยถาวรแห่งแรกของออสเตรเลียในทวีปแอนตาร์กติกขึ้นที่ Mawson ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 ซึ่งปัจจุบัน Mawson Station เป็น 1 ใน 3 สถานีปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ภายใต้ Australian Antarctic Program และเป็นสถานีที่มีการปฏิบัติการต่อเนื่องยาวนานที่สุดในทวีปแอนตาร์กติกา ทั้งนี้โครงการจะส่งเรือเพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไปยังแอนตาร์กติกาทุกๆ ปี

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วชิร คชการ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายที่ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยให้ไปสู่การค้นพบองค์ความรู้ที่เป็นเชิงลึก และผลิตผลงานที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการระดับสากล โดยเฉพาะงานวิจัยที่มีลักษณะเป็นการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ หรือบุกเบิกศาสตร์แขนงใหม่ สอดคล้องกับแผนนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563 – 2570 โดยงานวิจัยด้านอวกาศเป็นหนึ่งในแผนงานวิจัยที่ได้รับการเสนอในระดับของแผนงานสำคัญ (flagship) นับแต่ปีงบประมาณ 2563 ตามแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ ภายใต้โปรแกรมส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า (frontier research) และการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ (fundamental research) การเดินทางของคณะนักวิจัยไทยรุ่นใหม่สู่แอนตาร์กติกา ในครั้งนี้ จึงนับเป็นก้าวที่สำคัญในการผลักดันงานวิจัยพื้นฐานในไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้กล่าวถึงการเดินทางของคณะนักวิจัยไทยรุ่นใหม่สู่แอนตาร์กติกา ในครั้งนี้ว่าเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มวิจัยด้านรังสีคอสมิกและฟิสิกส์อวกาศในระดับนานาชาติ และช่วยขยายขีดความสามารถในการพัฒนางานวิจัยด้านฟิสิกส์อวกาศในระดับสากล ซึ่งสะท้อนถึงการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างเครือข่ายวิจัยภายในคณะวิทยาศาสตร์และคณะอื่นๆ ร่วมกับคู่ความร่วมมือนานาชาติ ที่มีความสนใจร่วมกันจนปรากฏอยู่บนแผนที่โลก และความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงเป็นการแสดงให้สังคมประจักษ์ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล หัวหน้าโครงการได้ให้ข้อมูลว่า ทวีปแอนตาร์กติกา ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีทิศทางของสนามแม่เหล็กโลกวางตัวในแนวดิ่ง ทำให้สามารถตรวจวัดอนุภาครังสีคอสมิกพลังงานสูงไม่เพียงจากกาแล็กซี แต่ยังรวมถึงรังสีคอสมิกจากดวงอาทิตย์อีกด้วย เอกลักษณ์จำเพาะตามตำแหน่งที่ตั้งนี้ ทำให้มีข้อมูลสำคัญที่นักวิจัยด้านอวกาศสามารถวิเคราะห์และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลจากสถานีตรวจวัดต่าง ๆ ทั้งบนผิวโลก และในอวกาศ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการศึกษาและเข้าใจสภาพอวกาศ ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ผลกระทบของพายุสุริยะและลมสุริยะที่อาจจะเกิดขึ้นต่อดาวเทียม มนุษย์ในอวกาศ ผู้โดยสารเครื่องบิน และโรงผลิตไฟฟ้าบนพื้นโลก สำหรับการตรวจวัดอนุภาครังสีคอสมิกนั้นโดยปกติ Neutron monitors ประมาณ 40 แห่งทั่วโลกจะวัดจำนวนรังสีคอสมิกต่อเวลา โดยแต่ละสถานที่จะวัดพลังงานได้ไม่เหมือนกัน ซึ่งที่แอนตาร์กติกาวัดได้พลังงานต่ำสุด ขณะที่ประเทศไทยนั้นคณะผู้วิจัยสามารถวัดได้พลังงานสูงสุด จึงได้ริเริ่มเทคนิคเพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงในพลังงานเฉลี่ยต่อเวลาด้วยขึ้นมา (Ruffolo et al. 2016; Mangeard et al. 2016; Banglieng et al., in press)

ทั้งนี้ อ. ดร.อเลฮานโดร ซาอิส ริเบรา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ และนายประดิพัทธ์ เหมืองห้า นักศึกษาระดับปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ จะเดินทางไปยังเมือง Hobart ประเทศออสเตรเลีย โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2563 ก่อนล่องเรือ RSV Aurora Australis ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563 เพื่อเดินทางไปยังสถานี Mawson ที่แอนตาร์กติกา

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

ข่าวจากสื่ออื่นๆ:

- https://spaceth.co/mahidol-resarch-in-antarctica
https://www.thaipr.net/education/975692
https://newsplus.co.th/182679
https://www.hooninside.com/news-feed/142307/view/
http://www.lokwannee.com/web2013/?p=388452
https://spaceth.co/mahidol-resarch-in-antarctica/
https://today.line.me/…/นักวิจัยไทยไปทำอะไรที่ขั้วโลกใต้+Ai…
https://www.youtube.com/watch?v=rSpCba4zfFk
https://science.mahidol.ac.th/newsclippi…/pdf/jan63-11-1.pdf
https://science.mahidol.ac.th/newsclippi…/pdf/jan63-11-2.pdf
https://science.mahidol.ac.th/newsclipping/pdf/jan63-14.pdf


ตรวจสอบโดย : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล, รองศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง
ภาพกิจกรรม: นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เขียนข่าว: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม