logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2563

 

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาพิเศษ Science Café
“จับตามอง!! โรคอุบัติใหม่ ไวรัสโคโรนา” ถ่ายทอดความรู้สู่ประชาคม

โรคอุบัติใหม่เป็นปัญหาที่ส่งผลโดยตรงกับความปลอดภัยในชีวิตของมนุษยชาติ และสร้างผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ช่วง 20-30 ปี มานี้ มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นกว่า 30 โรค โดยส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน และพัฒนาตัวเองจนสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ ทั้งยังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศซึ่งเป็นไปอย่างสะดวกและใช้เวลาน้อยลง ทำให้ยากต่อการเฝ้าระวังและควบคุมโรค กรณีล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ '2019-nCoV' ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน รวมถึงฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน มีรายงานผู้ป่วยกว่า 2,744 ราย เสียชีวิตแล้ว 80 ราย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งพบผู้ป่วยแล้วเช่นกันจำนวน 8 ราย โดยรักษาหายและออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว 5 ราย ส่วนอีก 3 ราย ยังคงรับการรักษาอยู่ในห้องแยกโรคของ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563) สร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดเสวนาพิเศษ Science Café “จับตามอง!! โรคอุบัติใหม่ ไวรัสโคโรนา” ขึ้นในวันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 10:00 น. – 11:00 น. ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท เพื่อพูดคุยและถ่ายทอดความรู้สู่ประชาคมเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยมีนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ อาทิ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ อาจารย์ พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นวิทยากรในการเสวนา โดยมี อาจารย์ ดร. นพ.พรรษกร ตันรัตนะ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในการเสวนาครั้งนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ได้กล่าวถึงไวรัสโคโรนา (Coronavirus: CoV) ว่าเป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA virus) กลุ่มใหญ่ รูปทรงของไวรัสมีส่วนที่ยื่นออกมารอบๆ คล้ายมงกุฎ (crown) หรือรัศมีของดวงอาทิตย์ จึงเป็นที่มาของชื่อ Corona ที่แปลว่ามงกุฎหรือรัศมีในภาษาละติน ไวรัสโคโรนาพบได้ในสัตว์หลายชนิด ประกอบด้วย อูฐ ปศุสัตว์ แมว และค้างคาว เชื้อสามารถถ่ายทอดจากสัตว์ไปสู่สัตว์ได้ และบางกรณีก็สามารถถ่ายทอดจากสัตว์สู่คนได้เช่นกัน ซึ่งสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV สาเหตุของโรคปอดอักเสบในเมืองอู่ฮั่นนั้นก็จัดเป็นน้องใหม่ในกลุ่มไวรัสนี้ โดยมีรุ่นพี่ในกลุ่มที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ เชื้อก่อโรคซาร์ส (SARS: Severe Acute Respiratory Syndrome) ติดต่อมาจากแมวชะมด (Civet cats) ที่แพร่ระบาดในปี ค.ศ. 2002 และเชื้อก่อโรคเมอร์ส (MERS: Middle East Respiratory Syndrome) หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ติดต่อมาจากอูฐ ซึ่งพบการระบาดเมื่อปี ค.ศ. 2012 ทั้งนี้มีนักวิจัยได้ทำการศึกษารหัสโปรตีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่พบว่ารหัสโปรตีนนั้นใกล้เคียงกับเชื้อที่อยู่ในค้างคาวมงกุฎและค้างคาวเกือกม้าในจีน

รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาระดับโมเลกุลและวิวัฒนาการของโรคไข้หวัดนก กลไกการเกิดโรคของโรคไข้หวัดนก ได้กล่าวเสริมรายละเอียดเกี่ยวกับความรุนแรงของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ เมื่อเทียบกับ SARS และ MERS ซึ่งเป็นไวรัสรุ่นพี่ในตระกูลโคโรนาว่า ถ้าดูจากข้อมูลระบาดวิทยา พบว่าผู้ป่วย SARS มีอาการป่วยและเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 10 ผู้ป่วย MERS มีอาการป่วยและเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 30 สำหรับโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หากคิดจากตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตแล้วพบว่าไม่ถึงร้อยละ 5 ในส่วนของการกลายพันธุ์ของเชื้อนั้นโดยปกติ RNA virus นั้น กลายพันธุ์ได้เร็ว แต่ขณะนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อค่อนข้างน้อย มีนักวิจัยการกลายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคตระกูลเดียวกันอย่าง SARS แล้วพบว่ามียีนที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ช้ามาก โดยยีนดังกล่าวมีโครงสร้างสามมิติที่ซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาเคมีที่จำเป็นบางอย่าง เรื่องนี้จึงยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ชัดเจน

ด้าน อาจารย์ พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเรื่องผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ อาการของโรค วิธีการสังเกตว่าป่วยด้วยไวรัสโคโรน่า ไม่ใช่ไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ และการป้องกันการติดเชื้อ ไปจนถึงการรักษาว่า จากข้อมูลการติดเชื้อพบว่าผู้ที่ติดเชื้อมีทั้งเด็กอายุ 10 ปี ผู้ใหญ่อายุ 33 ปี และผู้สูงอายุที่มีอายุ 40 – 90 ปี ส่วนอาการของโรคโดยรวมแล้วเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้นจะมีระยะฟักตัว 2 – 14 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีทั้งอาการ ไอแห้งๆ เจ็บคอ น้ำมูกไหล จาม มีไข้สูง รวมไปถึงหายใจเหนื่อยหอบ ซึ่งเป็นอาการของโรคทางเดินระบบหายใจ คล้ายคลึงกับไข้หวัด และอาจจะมีอาการท้องเสียเกิดขึ้นร่วมด้วย เชื้อสามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น ละอองจากการไอ จาม หรือสัมผัสสิ่งที่ผู้ติดเชื้อสัมผัสและมาแตะที่ปาก จมูก หรือตา จึงจะเห็นได้ว่ามีการคัดกรองชาวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยตามสนามบินต่างๆ อย่างเข้มงวด โดยใช้ทั้งเครื่องตรวจจับอุณหภูมิ (thermoscan) รูปแบบต่างๆ และซักประวัติผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง รวมถึงมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ประจำอยู่ที่สนามบินเตรียมพร้อมรับมือตามขั้นตอนอยู่ สำหรับการรักษานั้นผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่ฟื้นตัวได้ด้วยตนเอง จากการรักษาตามอาการ ตอนนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาหรือวัคซีนเฉพาะ โดยทางจีนและนานาประเทศกำลังระดมสรรพกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนอย่างเร็วที่สุดอยู่ แนะว่าช่วงที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อ ให้ปฏิบัติตนตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศอย่างเคร่งครัดจะดีที่สุด ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยและรีบเดินทางไปพบแพทย์หากมีอาการน่าสงสัยเพราะหากช้าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวมซึ่งมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

โดยสรุปสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ในตอนนี้ ประเมินว่าการระบาดของโรคอาจจะยังมีอยู่ จึงอยากให้ประชาชนตระหนักถึงโรคนี้ แต่ไม่ตระหนกจนเกินไป โดยรักษาสุขอนามัย รับประทานอาหารที่ปรุงสุก หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ก่อนทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังจากเดินทางไปในสถานที่พลุกพล่าน หรือเมื่อมือสกปรก ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น ไอจามปิดปากปิดจมูก ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ การใกล้ชิดผู้ที่มีอาการป่วย พื้นที่แออัด และการเดินทางไปยัง 14 พื้นที่เสี่ยง ได้แก่ เอินซือ (Enshi), เสี้ยวก่าน (Xiaogan), เสียนหนิง(Xianning), หวงสือ (Huangshi), เซียนเถา (Xiantao), เฉียนเจียง (Qianjiang), จิ่นโจว (Jingzhou), ลีฉวน (Lichuan), หวงกัง(Huanggang), ชื่อปี้ (Chibi), เอ้อโจว (Ezhou), จือเจียง (Zhijiang), อู่ฮั่น (Wuhan) และ เมืองกว่างโจว (Guangzhou) หรือใส่หน้ากากอนามัยหากเลี่ยงไม่ได้ หากมีอาการไข้และอาการผิดปกติทางระบบหายใจหลังเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง 2 – 14 วัน สามารถโทรศัพท์สอบถามอาการได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และควรรีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง นอกจากนั้นควรติดตามประกาศจากกรมควบคุมโรค และองค์การอนามัยโลกอยู่เป็นระยะ วิทยากรทั้งสามท่านสรุปทิ้งท้าย

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo


ตรวจสอบโดย: รองศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง
ภาพกิจกรรม: นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เขียนข่าว: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม