logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2562

 

คณะวิทยาศาสตร์จัดเสวนาพิเศษ Science Café ตอน ตื่นรู้ PM 2.5 มหันตภัยร้ายจริงหรือ?

เมื่อไม่นานมานี้ กรมควบคุมมลพิษได้ออกมาแจ้งเตือนถึงสภาวะฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเกินมาตรฐานจนอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หลายพื้นที่สามารถสังเกตเห็นได้จากสภาพอากาศที่มีหมอกควันปกคลุมหนาแน่น สร้างความตื่นตัวกับประชาชนเป็นอย่างมาก จนเกิดปรากฏการณ์หน้ากาก N95 ซึ่งเป็นหน้ากากอนามัยที่สามารถกรองฝุ่นละออง PM2.5 ได้ขาดตลาด เนื่องจากประชาชนต่างต้องการซื้อหน้ากากอนามัยสวมใส่เพื่อป้องกันไม่ให้สูดฝุ่นละอองเหล่านี้เข้าไป

เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจร่วมไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ PM2.5 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดการเสวนาพิเศษ Science Café ตอน ตื่นรู้ PM2.5 มหันตภัยร้ายจริงหรือ? ในวันพุธที่ 23 มกราคม 2562 เวลา 13.30 – 15.30 น. ณ ห้อง K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โดยเรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ประหยัด โภคฐิติยุกต์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ แพทย์หญิงนภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ขนาบแก้ว ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.พรทิพา กอประเสริฐถาวร ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การเสวนาครั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ PM2.5 หรือ อนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่าง ๆ ในเชิงนิเวศวิทยาชุมชนเมือง (urban ecology) ซึ่งเป็นการอธิบายถึงแหล่งกำเนิด เส้นทาง (pathway) สาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลกับการเพิ่มขึ้นของ PM2.5 ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงมลพิษอื่นๆ ที่มากับฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช่น Ozone (O3) และ NOx หรือที่เรียกว่า "photochemical smog" ผลกระทบ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวกับ PM2.5 การป้องกันตนเองด้วยหน้ากาก N95 และการป้องกันตนเองด้วยวิธีอื่นๆ กระบวนการทำงานของหน้ากาก N95 พร้อมวิเคราะห์อุบัติการณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5 ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จากแบบจำลองที่ระบุแหล่งกำเนิดหลักของ PM2.5 ในกรุงเทพฯ และอธิบายแนวทางการลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ด้วยการปลูกต้นไม้ประเภทต่างๆ ที่มีผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ

ภาพถ่าย : นายมานะ ไผ่มณี, นายเทพทัต คุ้มสังข์
เขียนข่าว: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย ดร.ณภัศศรณ์ ปัญญาสุข
เว็บมาสเตอร์ : นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม