logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2562

 

งานแถลงข่าว PACCON 2019
จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Together for the Benefit of Mankind"
ซึ่งมุ่งเน้นถึงความสำคัญของงานวิจัยทางเคมีและเคมีประยุกต์ที่มีต่อมวลมนุษยชาติในด้านต่างๆ

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี ภิญโญชีพ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.สุภา หารหนองบัว นายกสมาคมเคมี แห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี แถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON 2019) ภายใต้แนวคิด "Together for the Benefit of Mankind" ซึ่งมุ่งเน้นถึงความสำคัญของงานวิจัยทางเคมีและเคมีประยุกต์ที่มีต่อมวลมนุษยชาติในด้านต่างๆ ตลอดจนเพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยและองค์ความรู้ทางเคมีในประเทศไทยให้กว้างขวางในระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นเวทีสำหรับการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างความสัมพันธ์ของนักเคมีจากนานาชาติ โดยงานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 7 - 8 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นภาควิชาที่มีการเรียนการสอนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมาถึง 60 ปีแล้ว นับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่ในปีนี้ได้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงาน PACCON 2019 ขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้นักเคมีชาวไทยและนักเคมีจากทั่วโลกได้มีโอกาส พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่ผลงานวิจัย สร้างความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกันอันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ของงานวิจัยสู่สังคมในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นความจำเป็นของการวิจัยตามยุทธศาสตร์ชาติ”

รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นับเป็นโอกาสอันดีของนักศึกษาเคมีและชาวเคมีในประเทศไทยที่จะได้รับฟังการบรรยายพิเศษจาก Professor Dr. Bernard L. Feringa นักวิทยาศาสตร์ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2559 เกี่ยวกับสารสังเคราะห์ที่มีการทำงานเลียนแบบเครื่องจักรกล เช่น มอเตอร์  ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวสามารถพัฒนาไปสู่ยานพาหนะขนาดเล็กมากในระดับนาโน  เพื่อใช้ขนย้ายหรือส่งยาไปยังเซลล์เป้าหมายในร่างกาย นำไปสู่การรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพในอนาคต

นอกจากนี้ในงานยังมีตัวอย่างผลงานวิจัยพื้นฐานที่พัฒนาไปสู่นวัตกรรมเคมี อาทิ ชุดทดสอบภาคสนามสยามแก๊สโซฮอล์ ชุดทดสอบสารเพื่อใช้ในการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์และการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม  ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อลดอาการปวดเมื่อยและข้อเสื่อม ตลอดจนผลงานวิจัยด้านเคมีที่น่าสนใจอีกมากมาย”

รองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี ภิญโญชีพ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ประธานคณะกรรมการจัดงานประชุมวิชาการ PACCON2019 รายงานความพร้อม มีผู้ลงทะเบียนเข้าประชุมแล้วกว่า 1,200 คน จาก 24 ประเทศ และได้รับเกียรติจากนักวิทยาศาสตร์สาขาเคมีชั้นนำแขนงต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศอีก 69 ท่าน ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรรับเชิญใน 14 สาขาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ทางด้านเคมี ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้สนใจ มีการนำเสนอแบบบรรยาย (Oral presentation) จำนวน 183 เรื่อง แบบโปสเตอร์ (Poster presentation) จำนวน 599 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีโครงการห้องเรียนดาว โดยการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนให้กับคณาจารย์ผู้สอนวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน

ในงานประชุมวิชาการในครั้งนี้ นอกจากจะจัดให้นักวิชาการ อาจารย์ นิสิต นักศึกษาได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้บนเวทีระดับนานาชาติแห่งนี้ และยังมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ นิทรรศการผลงานวิจัยของนักศึกษา และนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาและผลงานของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีต่อการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเคมีที่นำไปสู่ความก้าวหน้าทั้งทางวิชาการและสังคมของประเทศ เพื่อเป็นการร่วมฉลองเนื่องในโอกาส 60 ปีของการก่อตั้งภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Highlight ของงาน PACCON 2019

1. การบรรยายพิเศษโดย Professor Dr. Bernard L. Feringa จาก University of Groningen, the Netherlands นักวิทยาศาสตร์ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2559 ในหัวข้อเรื่อง“The Art of Building Small - from molecular switches to motors” ซึ่งเป็นการบรรยายเกี่ยวกับสารสังเคราะห์ที่มีการทำงานเลียนแบบเครื่องจักรกล เช่น มอเตอร์  งานวิจัยดังกล่าวสามารถพัฒนาไปสู่ยานพาหนะขนาดเล็กมากในระดับนาโน เพื่อใช้ขนย้ายหรือส่งยาไปยังเซลล์เป้าหมายในร่างกาย นำไปสู่การรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

2. การบรรยายโดยนักเคมีชั้นนำ อาทิ Professor Dr. Leroy Cronin จาก University of Glasgow, UK บรรยายเรื่อง “Exploring Computation with Chemical Reactions”, และ Professor Dr. Katharina Landfester จาก Max Planck Institute for Polymer Research, Germany บรรยายเรื่อง “Polymeric nanocapsules: encapsulating, camouflaging, transporting and releasing substances

3. การนำเสนอผลงานวิจัยที่ทันสมัยใน 14 สาขาย่อย ดังนี้
(1) Analytical Chemistry (2) Chemical Biology and Biochemistry (3) Natural Products (4) Organic synthesis & Medicinal Chemistry (5) Environmental Chemistry and Engineering (6) Chemical Education (7) Renewable Energy and Eco-materials (8) Catalysis Science and Technology (9) Food & Agricultural Chemistry (10) Inorganic Chemistry (11) Physical & Theoretical Chemistry (12) Material Chemistry & Nanotechnology (13) Polymer Chemistry and Bio-based Materials (14) Industrial Chemistry & Innovation

4. นิทรรศการ 60 ปี ภาควิชาเคมี  งานแสดงภาพถ่ายวิทยาศาสตร์เล่าเรื่อง และงานแสดงนวัตกรรมเคมี
นิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาและผลงานของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีต่อการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเคมีที่นำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการและสังคมของประเทศ ภายใต้แนวคิด
“Together for the Benefit of Mankind” และตัวอย่างผลงานวิจัยพื้นฐานที่พัฒนาไปสู่นวัตกรรมเคมี อาทิ ชุดทดสอบภาคสนามสยามแก๊สโซฮอล์ ชุดทดสอบสารเพื่อใช้ในการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์  ผลิตภัณฑ์จากแมคคา ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อลดอาการปวดเมื่อยและข้อเสื่อม

ติดตามข่าวสารและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.paccon2019.org หรือ http://chemistry.sc.mahidol.ac.th

แหล่งข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ผู้ตรวจ Press release: รศ. ดร.อทิตยา สิริภิญญานนท์, รศ. ดร.กัลยาณี สิริสิงห
เขียน Press release: นางวริศรา ทาทอง

ภาพถ่าย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ, นางสาวเกตน์นิภา บุญส่งนาค
เว็บมาสเตอร์ : นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม