เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและปาฐกถานำเรื่อง "การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในยุค Thailand 4.0" ในงาน "นักวิจัยรุ่นใหม่..พบ..เมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 17 พร้อมมอบรางวัล 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่ 2018 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award รางวัล 2018 TRF-OHEC-Scopus Researcher Award และรางวัล 2018 TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Award ณ โรงแรมเดอะรีเจนท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จ.เพชรบุรี โดยในปีนี้ มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล สามารถคว้าได้ถึง 4 รางวัล
รางวัล 2018 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award เป็นรางวัลที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท คลาลิเวท อนาลิทิคส์ (Clarivate Analytics) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกย่องนักวิจัยที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย เชิดชูผลงานการวิจัยที่โดดเด่น และมีคุณูปการในสาขาที่นักวิจัยเชี่ยวชาญพิเศษ รวมถึงผลกระทบเชิงบวกที่ผลงานวิจัยดังกล่าวมีต่อสาธารณชนในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ชุติมา คูหากาญจน์ วุฒิเมธีวิจัย สกว. จากภาควิชาเคมี และศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับรางวัลจากผลงานการวิจัย เรื่อง "การพัฒนาวิธีการสังเคราะห์ทางเคมีอินทรีย์แบบใหม่" ซึ่งสารประกอบอินทรีย์ที่พัฒนาขึ้น พบว่าบางชนิดเป็นสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญ เช่น สารต้านเชื้อแบคทีเรียและยังมุ่งเน้นพัฒนาวิธีการสังเคราะห์ที่สามารถทำได้ง่ายสะดวก ลดขั้นตอนในการสังเคราะห์โดยการออกแบบสารตั้งต้นที่สามารถเกิดปฏิกิริยาแบบต่อเนื่องได้ภายในขั้นตอนเดียวเพื่อให้ได้สารผลิตภัณฑ์ที่มีโครงสร้างซับซ้อน โดยวิธีการสังเคราะห์สามารถประยุกต์ใช้ได้จริง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยา
รางวัล 2018 TRF-OHEC-Scopus Researcher Award เป็นรางวัลที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์เอลเซอร์เวียร์ (Elsevier) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งสาขา Biological & Life Sciences มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับรางวัลนี้ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงอุไรวรรณ พานิช เมธีวิจัย สกว. จากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการวิจัย เรื่อง "บทบาทของสารต้านออกซิเดชั่นจากธรรมชาติ สู่การพัฒนาสารยับยั้งความเสื่อมสภาพของผิวหนัง" ที่อธิบายกลไกการเกิดผิวหนังเสื่อมสภาพ รวมทั้งการเกิดสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอที่มีสาเหตุจากรังสียูวีที่กระตุ้นภาวะเครียดและเกิดการออกซิเดชั่นในเซลล์ผิวหนัง สามารถนำไปสู่การพัฒนาวิธีการป้องกันอันตรายจากแสงแดดอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชะลอวัย การยับยั้งความเสื่อมสภาพของผิวหนังที่มีประสิทธิภาพในระดับโมเลกุลและเซลล์ รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร
และรางวัลประเภทสุดท้าย รางวัล 2018 TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Award มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับรางวัลนี้จำนวน 2 ท่าน ได้แก่
- สาขา Life Sciences & Agricultural Sciences ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วโรดม เจริญสวรรค์ นักวิจัย สกว. ภาควิชาชีวเคมีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการวิจัยเรื่อง "ชีววิทยาระบบเพื่อความเข้าใจและพัฒนาพืชเพื่อรับมือสภาวะโลกร้อน" ซึ่งนับเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสายพันธุ์พืช และวิธีการเพาะปลูกเพื่อให้พืชทนต่อสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างรวดเร็ว แบบจำลองที่ได้เป็นข้อมูลที่สำคัญในการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสายพันธุ์พืชให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อประชากรโลก ทั้งนี้กลุ่มวิจัยกำลังดำเนินการพัฒนาต่อยอดงานดังกล่าวสู่พื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ อาทิ พื้นที่ปลูกข้าว และแหล่งเลี้ยงสาหร่าย ร่วมกับกลุ่มวิจัยอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป
- สาขา Chemical & Pharmaceutical Sciences ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร นักวิจัย สกว. สังกัดภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการวิจัย เรื่อง "โมเลกุลนาโนไฮบริดสู่นวัตกรรมวัสดุ" จากวิธีการเตรียมสารประกอบนาโนไฮบริดที่มีโครงสร้างหลากหลายแบบใหม่ สามารถอธิบายถึงกลไกการเกิดสารประกอบที่นำไปสู่การดัดแปลงและพัฒนาวิธีการเตรียมสารประกอบเคมีอื่นๆ ในกลุ่มใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังนำสารประกอบเคมีที่สังเคราะห์ได้จากกลุ่มเหล่านี้มาใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดต่างๆ เพื่อผลิตสารเคมีที่ใช้เป็นสารเติมแต่งในอุตสาหกรรมไฮบริดพลาสติก หรือใช้เปลี่ยนเป็นพอลิเมอร์ยางสังเคราะห์ชนิดใหม่ โดยงานวิจัยในปัจจุบันเน้นหนักไปทางด้านการพัฒนาวัสดุตรวจวัดทางเคมีเซ็นเซอร์และวัสดุดูดซับเพื่อลดความเป็นพิษของสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาวิจัยต่อวงการวิทยาศาสตร์เคมีและวัสดุศาสตร์ของโลก มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยที่หลากหลาย มีความพร้อมในทุกด้านที่จะช่วยสนับสนุนการวิจัย ร่วมถึงนโยบายด้านการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับมาตราฐานสากล ตรงกับความต้องการของสังคม และการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่อย่างชัดเจนเสมอมา
ศาสตราจารย์อาวุโส ดร.นรัตถพล เจริญพันธุ์ (ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.) ประจำปี พ.ศ. 2560
ภาพจาก : Facebook Mahidol University, Facebook สกว.,ดร.ณภัศศรณ์ ปัญญาสุข
ข่าวจาก : มหาวิทยาลัยมหิดล
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร