เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2553 ณ ห้องโถง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในงานแถงข่าว "นกเงือกจะสูญพันธ์หรือไม่ งานวิจัยพันธุกรรมนกเงือก จะมีส่วนช่วยอนุรักษ์นกเงือกได้อย่างไร" ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ให้การสนับสนุน ทุนส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยอาชีพ ประจำปี 2545 เรื่อง "ลักษณะพันธุกรรมกรรมประชากร และสถานภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกในพื้นที่ผืนป่า และหย่อมป่าในประเทศไทย" ซึ่งมี ศ. ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่มีนักวิทยาศาสตร์เห็นถึงความสำคัญในการศึกษาโครงสร้างทางพันธุกรรมและสภาพทางนิเวศถิ่นอาศัยของประชากรนกเงือก เนื่องจากว่า นกเงือกเป็นสัตว์ที่มีบทบาทเด่นเป็นอย่างมากในระบบนิเวศป่า คือ เป็นตัวช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ (Seed disperser) รักษาความหลากหลายของพืชซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ป่า แต่ในปัจจุบัน ประชากรนกเงือกมีจำนวนลดลงจนน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์จึงเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยด้านความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ ไม่เพียงแต่นกเงือกเท่านั้น ยังรวมไปถึงพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการต่อยอดงานวิจัยเพื่อนำประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ ตลอดจนการจัดการและการฟื้นฟูทรัพยากร เป็นต้น
นอกจากนี้ ศ. ดร. พิไล พูนสวัสดิ์ และทีมวิจัย ยังนำความรู้ที่ได้จากโครงการศึกษาพันธุกรรมนกเงือกมาร่วมคิดร่วมทำกับชุนชนท้องถิ่น เพื่อก่อให้เกิดกลุ่มร่วมอนุรักษ์นกเงือกในชุมชน อีกทั้งยังได้เปิดโอกาสให้คนเมืองที่อยู่ห่างไกลป่า มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์นกเงือก ภายใต้ "โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก" อีกด้วย ผลจากการดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการนี้ ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการวิจัยอื่น ๆ ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้เป็นอย่างดี" คุณหญิงกัลยา กล่าว
รศ. นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช. ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าว ภายใต้ "ทุนส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยอาชีพ" โดยมีงบประมาณสนับสนุนกว่า 15 ล้านบาท ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ศ. ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ และคณะวิจัย ได้นำเทคโนโลยีการศึกษาวิจัยทรัพยากรชีวภาพทั้งในด้านศึกษานกเงือกในถิ่นอาศัยที่มีสภาพเป็นผืนป่า และหย่อมป่าทั่วประเทศ จนสามารถสร้างความเข้าใจของสถานภาพและอนาคตของนกเงือกในประเทศไทย ตั้งแต่ระดับพันธุกรรม ประชากร จนกระทั่งถึงระดับระบบนิเวศ อาทิ การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของนกเงือก การสร้างเครื่องหมายโมเลกุลของนกเงือกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และการวางระบบนับนกเงือกอย่างจริงจัง เพื่อใช้ทำนายสถานภาพที่อยู่อาศัยและความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการบูรณาการของโครงการวิจัย ตั้งแต่การนำเทคนิคหรือเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ มาวิเคราะห์จนก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ไปสู่การฝึกอบรมชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ในหลากหลายโครงการ อาทิ โครงการค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก โครงการปรับปรุงรังนก โครงการสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก จะนำไปสู่การอนุรักษ์ ฟื้นฟูประชากรนกเงือกและถิ่นอาศัยอย่างเป็นระบบต่อไป