logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2564

 

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สื่อสารวิทยาศาสตร์สร้างแรงบันดาลใจผ่านงานเสวนาพิเศษ Science Café แกะสูตร Start up model : จากห้องแล็บสู่ผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิด-19 มาตรฐานสากล

18 กุมภาพันธ์ 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนาพิเศษ Science Café แกะสูตร Start up model : จากห้องแล็บสู่ผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิด-19 มาตรฐานสากล สื่อสารวิทยาศาสตร์สร้างแรงบันดาลใจ สร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์สู่สังคมเป็นวงกว้าง โดยถ่ายทอดเรื่องราวของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิด-19 แลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำงานวิจัยสู่ธุรกิจจากวิทยากร ได้แก่ รศ. ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ และอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาชุดทดสอบโรคและความปลอดภัยทางอาหาร (ADDC) ผศ. ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (CEMB) คุณกวิน น้าวัฒนไพบูลย์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซโนสติกส์ จำกัด และคุณอกนิษฐ์ วงศ์บุญมาก นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท เซโนสติกส์ จำกัด ดำเนินรายการโดย อ. ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ณ ห้องประชุม K102 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ผ่านทาง Facebook live

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

คุณกวิน น้าวัฒนไพบูลย์ ได้เล่าถึงมุมมองและแรงบันดาลใจที่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำชุดตรวจโรค ก่อนจะมุ่งพัฒนาเป็นชุดตรวจโควิด-19 โดยนำเอา DNA Chip เทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ มาผสมผสานกับเทคนิค RT-LAMP ซึ่ง คุณอกนิษฐ์ วงศ์บุญมาก ได้เสริมถึงจุดเด่นของเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว อ่านผลจากการเปลี่ยนสีได้ใน 1 ชั่วโมง มีความแม่นยำสูง กระจายตัวได้ง่าย และค่าใช้จ่ายถูกกว่า เหมาะกับการนำไปใช้คัดกรองผู้ป่วยในชุมชนอันเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมการระบาดของโรค และยังกล่าวถึงการใช้งานชุดตรวจ ซึ่งได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพความไว (Sensitivity) ถึง 95% และความจำเพาะ (Specificity) 99.97% เทียบกับการตรวจด้วยวิธีการ real time RT-PCR โดยใช้ตัวอย่างของผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี และการใช้จริงในพื้นที่ชุมชนอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี กว่า 3,000 ตัวอย่าง

ขณะที่ ผศ. ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ได้กล่าวถึงบทบาทและความร่วมมือของหน่วยงานภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ ภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และหน่วยงานภายนอก เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงมูลนิธิรามาธิบดี องค์การเภสัชกรรม (GPO) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งให้การสนับสนุนทุนให้งานวิจัยจากห้องแล็บกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุดตรวจโควิด-19 FastProof™ GoPlus SARS-CoV-2 RT-LAMP Kit และ FastProof™ Dual SARS-CoV-2 RT-LAMP Kit ซึ่งเป็น 1 ใน 2 รูปแบบของชุดตรวจโควิด-19 ฝีมือคนไทย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ด้าน รศ. ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของคุณกวิน ได้กล่าวถึงกุญแจสำคัญที่ทำให้ทีมวิจัยประสบความสำเร็จ คือ ทีมนักวิจัยและอาจารย์ที่มีความตั้งใจจริงและมีความรู้ความเชี่ยวชาญ การเข้าถึงสิ่งสนับสนุนในการวิจัย และแหล่งเงินทุน ซึ่งแสวงหาได้จากความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมเชิญชวนนักศึกษาที่มีความฝันอยากสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ลองเอาความฝันออกมาพูดคุยกัน

นอกจากนั้น ผศ. ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ได้ให้คำแนะนำถึงสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้มองหาแหล่งทุนที่ไม่ผูกมัดมาก ตั้งเป้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย และให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมศึกษาและกำหนดตลาดที่ต้องการจะแข่งขันให้ชัดเจน คุณกวิน น้าวัฒนไพบูลย์ ฝากถึงสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้ตั้งใจและยึดมั่นใน passion ของตนเองที่จะสร้างให้เกิดสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อสังคม สำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลที่อยากทำสตาร์ทอัพ สามารถปรึกษาการทำธุรกิจกับสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหน่วยงานบ่มเพาะสตาร์ทอัพโดยเฉพาะได้

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ทาง Facebook page คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล https://www.facebook.com/watch/live/?v=416792949588509&ref=watch_permalink

ตรวจสอบโดย: นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
เขียนข่าวโดย: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ภาพข่าวโดย: นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม