logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2563

 

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ่ายทอดความรู้สู่ประชาคม จัดเสวนาพิเศษ Science Café: ภาพ “หลุมดำ” ภาพแรกของมวลมนุษย์ชาติ

หลุมดำ เป็น วัตถุท้องฟ้าที่มีมวลและแรงโน้มถ่วงสูงมาก เกิดจากการยุบตัวของดาวฤกษ์ที่มีความโน้มถ่วงมหาศาล เนื่องจากพื้นผิวดาวไม่สามารถต้านทานความโน้มถ่วงจากมวลของตนเองได้จึงพังทลายลงไป แล้วดูดกลืนทุกสิ่งที่อยู่ใกล้ แม้กระทั่งแสงก็ไม่สามารถเล็ดรอดออกมาได้ ที่ผ่านมานักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ศึกษาหลุมดำทางอ้อมจากคลื่นความโน้มถ่วงของ LIGO ซึ่งตรวจจับได้จากการชนกันของหลุมดำ หรือการสูญเสียพลังงานของพัลซาร์ที่โคจรรอบหลุมดำ จนกระทั่งเมื่อ 10 เมษายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา โครงการ Event Horizon Telescope (EHT) ได้เปิดเผยภาพถ่ายหลุมดำภาพแรกของโลก ถือเป็นการถ่ายภาพหลุมดำโดยตรง และเป็นการเปิดประตูสู่การทำความเข้าใจหลุมดำที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น สร้างความตื่นเต้นให้กับนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ไปทั่วโลก

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้เชิญนักวิทยาศาสตร์รางวัล Breakthrough Prize 2020 Dr.Kazuhiro Hada จากทีม EHT Collaboration และ Dr.Koichiro Sugiyama จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NARIT เป็นวิทยากรพูดคุยและถ่ายทอดความรู้สู่ประชาคมเกี่ยวกับความสำเร็จอันน่าตื่นเต้นของมนุษยชาติ ในงานเสวนาพิเศษ Science Café: ภาพ “หลุมดำ” ภาพแรกของมวลมนุษย์ชาติ โดยมี ผศ. ดร.พิเชษฐ กิจธารา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการในวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 14:00 น. – 16:00 น. ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

Dr.Kazuhiro Hada ได้เล่าเกี่ยวกับเบื้องหลังการทำงานของทีม Event Horizon Telescope หรือ EHT ว่าเป็นความร่วมมือระดับนานาชาติจากหลายสิบประเทศ ประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุตั้งต้น 8 กล้อง กระจายอยู่ทั่วโลก อาทิ ฮาวาย กรีนแลนด์ แอนตาร์กติกา ชิลี สหรัฐอเมริกา สเปน แต่ละกล้องบันทึกสัญญาณและนำมารวมกัน ทำให้เสมือนกับว่ามีกล้องขนาดใหญ่เท่าเส้นผ่าศูนย์กลางของโลก เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดในเรื่องความสามารถของเลนส์กล้องในการแยกแยะรายละเอียดของภาพออกจากกันได้

ในกระบวนการถ่ายภาพหลุมดำนั้น กล้องทั้ง 8 ตัว ถูกชี้ไปที่ตำแหน่งของกาแลกซี่ M87 ซึ่งอยู่ห่างออกไป 55 ล้านปีแสง ณ ใจกลางกาแลกซี่เป็นที่อยู่ของหลุมดำมวลยิ่งยวด (supermassive black hole) ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 6.5 พันล้านเท่า โดยทำการบันทึกสัญญาณพร้อมๆ กันทุกวัน เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ที่ย่านความถี่ 220 GHz ด้วยเทคนิคการแทรกสอดระยะไกล (Very Long Baseline Interferometer: VLBI) ซึ่งให้ประสิทธิภาพความละเอียดเพียงพอเสมือนอ่านหนังสือพิมพ์ในนิวยอร์คจากร้านกาแฟในปารีส ที่มีระยะห่างกว่า 6,000 กิโลเมตร หลังจากนั้นจึงนำสัญญาณจากทุกกล้องส่งให้ทีม Machine Learning ของโครงการที่ MIT และสถาบันมักซ์พลังค์ ประเทศเยอรมนี เพื่อประมวลภาพถ่ายด้วยอัลกอริทึม CHIRP (Continuous High-resolution Image Reconstruction using Patch priors) ซึ่งใช้เวลาวิเคราะห์ข้อมูลประมาณ 1 ปี

การถ่ายภาพหลุมดำได้สำเร็จนั้นเป็นการยืนยันความถูกต้องของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ ในบริเวณความโน้มถ่วงสูงมาก และยังเป็นครั้งแรกที่ยืนยันถึงการมีอยู่ของวงแหวนโฟตอน ซึ่งเป็นอนุภาคแสงที่โคจรรอบหลุมดำ และเงามืดของหลุมดำ ซึ่งเป็นบริเวณที่แสงไม่สามารถหลุดออกมาได้อีกด้วย ส่วนการศึกษาหลุมดำในอนาคตจะอัพเกรดกล้องให้สามารถถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงขึ้น โดยการเพิ่มความถี่จาก 220 GHz เป็น 350 GHz เพื่อให้ได้ภาพที่มีความละเอียดมากพอสำหรับศึกษาหลุมดำที่ใจกลางกาแลกซี่ทางช้างเผือก และทำความเข้าใจสนามแม่เหล็กรอบๆ หลุมดำ และการเกิดอนุภาคพลังงานสูงที่พุ่งยาวออกมาจากหลุมดำ (jet) ด้วย

ด้าน Dr.Koichiro Sugiyama จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NARIT ได้กล่าวเพิ่มเติมถึง Thailand National Radio Telescope กล้องโทรทรรศน์วิทยุของประเทศไทย ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จและทดสอบภายในปลายปี พ.ศ. 2563 นี้ และโอกาสในการเข้าร่วมเครือข่ายกล้องอื่นๆ ระดับโลกว่า กล้องโทรทรรศน์วิทยุนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางจาน 40 เมตร และทำงานที่ย่านความถี่ต่ำกว่า คือ 1 - 100 GHz จึงเหมาะกับการร่วมเครือข่าย VLBI กับชาติเอเชียอื่นๆ ในการศึกษากาแลกซี่และกลุ่มแก๊สต่างๆ ซึ่งกล้องนี้มีความสำคัญอย่างมากในระดับเอเชีย เพราะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เมื่อร่วมมือกับชาติอื่นๆ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน จะทำให้ภาพที่ได้มีความคมชัดขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้กล้องที่มีอยู่ในประเทศไทยยังไม่สามารถทำงานที่ความถี่สูงกว่านี้ได้ เพราะเมืองไทยมีความชื้นสูง ไอน้ำในอากาศจะดูดกลืนพลังงานของคลื่นความถี่สูงกว่านี้แทบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม “คณะนักวิจัยมีแผนจะร่วมมือกับอินเดียและจีนในการสร้างกล้องย่านความถี่ 350 GHz เร็วๆ นี้” Dr.Koichiro กล่าวทิ้งท้าย

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

ตรวจสอบโดย: รองศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง และนางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพกิจกรรม: นายมานะ ไผ่มณี
เขียนข่าว: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม