logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2563

 

6 ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คว้า 7 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ
จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2563

6 ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยศักยภาพด้านการวิจัยสู่สังคม คว้ารางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 ประเภทผลงานประดิษฐ์คิดค้น 4 รางวัล และประเภทผลงานวิจัยอีก 3 รางวัล ในงาน “วันนักประดิษฐ์” โดยเข้ารับรางวัลจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา

งาน “วันนักประดิษฐ์” จัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่มีผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและเป็นครั้งแรกของโลก โดยครั้งนี้เป็นการจัดงานต่อเนื่องกันเป็นครั้งที่ 22

สำหรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประเภทรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ที่ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ได้รับนั้น เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักประดิษฐ์ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ผลผลิต ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี กระบวนการ วิธีการ มาตรการหรือระบบ ตลอดจนนวัตกรรม วิทยาการต่างๆ ที่ดีเด่นและพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ เป็นผลงานที่เกิดจากความคิดริเริ่ม และความเพียรพยายามของผู้ประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งเป็นของใหม่หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น ทรัพยากรที่ใช้ในการประดิษฐ์คิดค้นส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรที่มีในประเทศไทย มีคุณค่าทางวิชาการ มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้ โดยทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับรางวัล ได้แก่

1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ภาควิชาฟิสิกส์ และทีมงาน นักศึกษากลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากผลงานเรื่อง "ชุดอุปกรณ์เทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดสุขภาพการนอนหลับ (Sensor Technology for Sleep Monitoring)" และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ จากผลงานเรื่อง "เซ็นเซอร์ไอโอทีสำหรับฟาร์มเกษตรดิจิทัล (IoT Sensors for Digital Farming)"

2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชภาคย์ จิตต์อารี ภาควิชาฟิสิกส์ และทีมงาน ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ สาขาการศึกษา จากผลงานเรื่อง "โปรแกรมจำลองเครื่องจักรเสมือนเพื่อการเรียนรู้ลอจิกเกต (Arduino - based Logic Gate Emulator)"

3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชนก ตินิกุล ภาควิชาชีวเคมี ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานเรื่อง "ชุดตรวจวัดสารพิษตกค้างเพื่ออาหารปลอดภัย (VIST - Light for Food Safety)"

ส่วนรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประเภทรางวัลผลงานวิจัย เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัย ซึ่งได้อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องในกลุ่มวิชาการ หรือสหวิทยาการอย่างต่อเนื่อง ผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม ต้องเป็นผลงานวิจัยที่ทำสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี ผู้วิจัยเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัย เป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้นๆ สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยอื่นได้ ซึ่งทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลมี ดังนี้

1) รองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา สุรวัฒนาวงศ์ ภาควิชาเคมี และทีมงาน ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานเรื่อง "ไพแรนโนส 2-ออกซิเดส ตัวเร่งปฏิกิริยาทางชีวภาพรูปแบบใหม่ สำหรับการสังเคราะห์น้ำตาลมูลค่าสูง (Pyranose 2 - oxidase as a Novel Biocatalysts for Value Added Sugar Production)"

2) รองศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร ภาควิชาเคมี และทีมงาน ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานเรื่อง "วัสดุลูกผสมซิลเซสควิออกเซน: โมเลกุลติดฟังก์ชันเรืองแสง สำหรับตัวรับรู้ (Silsesquioxane Hybrid Materials-functionalized Fluorescent Molecules for Chemosensors)"

3) รองศาสตราจารย์ ดร.รักชาติ ไตรผล กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ และทีมงาน ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากผลงานเรื่อง "การจัดเรียงตัวและสมบัติทางแสงของอนุพันธ์พอลิไธโอฟีน ในสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ (Chain Organization and Photophysical Properties of Polythiophene Derivatives in Different Local Environments)"

ในโอกาสอันดีนี้ นางรัตนา เพ็ชรอุไร ที่ปรึกษากองบริหารงานวิจัย เป็นผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่ทีมนักวิจัยที่เข้ารับรางวัล

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

ตรวจสอบโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง และนางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพกิจกรรม: มหาวิทยาลัยมหิดล
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม