คณะวิทยาศาสตร์จัดเวทีเสวนาพิเศษ "How to ทำงานวิจัยให้เป็นสิ่งประดิษฐ์ สามารถจดสิทธิบัตรได้ (A pathway from research to innovation and patent)" แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานวิจัยและต่อยอดให้ประสบความสำเร็จของ 5 นักวิจัยผู้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563 และ 1 นักวิจัยผู้ได้รับรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2562 ในวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 10:00 – 12:00 น. ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข ซึ่งในโอกาสอันดีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมแสดงความยินดีแก่นักวิจัยผู้ได้รับรางวัล พร้อมกล่าวว่า ความรู้มีมูลค่า และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมช่วยสนับสนุนและผลักดันในการนำความรู้มาสร้างประโยชน์เพื่อสังคม ก่อนถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก
ในการเสวนา 5 นักวิจัยผู้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563 ที่มาร่วมงาน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.รักชาติ ไตรผล, รองศาสตราจารย์ ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร, รองศาสตราจารย์ ดร.พนิดา สุรวัฒนาวงศ์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชนก ตินิกุล และนางสาวธารทิพย์ เอี่ยมสะอาด หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ พร้อมด้วย 1 นักวิจัยรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ประจำปี 2562 ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำวิจัยให้เป็นสิ่งประดิษฐ์ โดยมี อาจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสรุปสาระสำคัญของผู้ร่วมเสวนาได้ว่า
นวัตกรรมไม่ได้สร้างกันขึ้นมาง่ายๆ ต้องอาศัยเวลาค้นคว้าวิจัย ประกอบกับใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานควบคู่ไปด้วย แรงบันดาลใจที่ก่อเกิดนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาจจะเกิดจากปัญหาที่ผู้คนพบเจอในการใช้บริการต่างๆ เช่น ชุดอุปกรณ์เทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดสุขภาพการนอนหลับ (Sensor Technology for Sleep Monitoring) ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการรอใช้บริการตรวจคุณภาพการนอนหลับ ซึ่งต้องเดินทางไปขอรับบริการที่โรงพยาบาลและต้องรอนาน การศึกษาค้นคว้าสิ่งที่มีอยู่ทั่วไปอย่างทะลุปรุโปร่งเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การค้นคว้าเกี่ยวกับซิลิคอน (Silicon) ที่สามารถพบได้ทั่วไปบนเปลือกโลกในรูปของทราย และนำไปพัฒนาเป็น smart material ความสงสัยใคร่รู้และต้องการจะอธิบายถึงปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น การศึกษาโครงสร้างของน้ำตาลและกลไกปฏิกิริยาเพื่อสังเคราะห์น้ำตาลมูลค่าสูง การศึกษาสารเรืองแสงเพื่อใช้ตรวจวัดสารเคมีตกค้างพร้อมกับย่อยสลายสารเคมีตกค้างไปด้วย การจัดเรียงตัวและสมบัติทางแสงของอนุพันธ์พอลิไธโอฟีนในสภาวะแวดล้อมต่างๆ การศึกษาอนุภาคในอวกาศเพื่อสร้างเครื่องมือตรวจวัดต่างๆ หรือบางครั้งอาจจะมาจากการศึกษาข้อผิดพลาดของงานวิจัย ทำให้พบกับโจทย์วิจัยซึ่งสามารถนำมาค้นคว้าและพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้
สุดท้ายได้ให้กำลังใจและแง่คิดดีๆ กับนักวิจัยทุกท่านว่า ให้เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด มีความตั้งใจและเห็นความสำคัญ ในสิ่งที่ทำ มาตรฐานความสำเร็จในใจของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ขอให้เลือกทางที่มีความสุขในการดำเนินงานเป็นที่สุด
ตรวจสอบโดย: นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพกิจกรรม: นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เขียนข่าว: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวนุชสรา บุญครอง