logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2562

 

คณะวิทย์ มหิดล ผนึกกำลังกับ NIA และ ไทยยูเนี่ยน ปั้น Foodtech startup ระดับโลกแห่งแรกของไทย พร้อมเสิร์ฟสู่ตลาดสากล

4 กุมภาพันธ์ 2562 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในพิธีลงนามความร่วมมือ "โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหาร (Foodtech Incubator & Accelerator Program; FIAP)" ภายใต้ชื่อ "SPACE-F" ณ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซอยโยธี กรุงเทพฯ โดยมี รศ.ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดี เป็นผู้แทนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามร่วม ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และคุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

SPACE-F จัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหาร (FoodTech Startup) ตลอดจนเร่งรัดการเติบโตทางธุรกิจสู่ตลาดเอเชีย รวมทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ช่วยเชื่อมโยงวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหารเข้ากับผู้เล่นที่สำคัญในระบบนิเวศ เช่น องค์กรภาครัฐ บริษัทขนาดใหญ่ นักลงทุน และ สถาบันการศึกษา ด้านองค์กรภาครัฐอย่าง NIA มีส่วนในการให้การสนับสนุน Startup ได้พัฒนาทางธุรกิจอย่างมีแบบแผน ภายใต้ โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ Spark เปิดให้สตาร์ทอัพเข้ามาสมัคร จากนั้นคัดเลือกเหลือ 12 – 20 ทีมเพื่อเข้าอบรม boot camp และพัฒนาธุรกิจต่อไปในอนาคต โดยมีบริษัทไทยยูเนี่ยนในฐานะบริษัทผู้ประกอบการด้านอาหารทะเลระดับโลกช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจ Startup ดังกล่าวเติบโตในตลาดได้จริง และเป็นตัวอย่างแนวทางทางธุรกิจให้กับ Startup รุ่นอื่นๆต่อไป

ทางด้านสถาบันการศึกษาอย่าง รศ.ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า Tech-based startup ทั้งหลายล้วนเกิดจากนวัตกรรมที่มาจากงานวิจัย โดยแนวคิดนี้เริ่มเป็นที่คุ้นเคยของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่ง Ecosystem ของสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงนั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมจากการวิจัย ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง SPACE-F เพื่อสร้าง FoodTech startup ผลักดันการสร้างนวัตกรรม และพัฒนาบัณฑิตที่สนใจให้เป็น Entrepreneur ในอนาคต โดยคณะวิทยาศาสตร์จะสนับสนุน Ecosystem ในการทำงานวิจัยอันได้แก่ สถานที่ ห้องปฏิบัติการงานวิจัย นักวิจัย องค์ความรู้ ตลอดจนผลงานวิจัยที่มีอยู่ คณะวิทยาศาสตร์หวังว่าการร่วมมือกันของพันธมิตรทั้งสามฝ่ายจะเพิ่มอัตราความสำเร็จของ Startup เหล่านี้ จนกระทั่งสามารถสร้าง Impact ต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศไทยและระดับโลก

SPACE-F ตั้งอยู่ในทำเลกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ที่สะดวกต่อการเดินทางทั้งจากสนามบินและการเดินทางเชื่อมต่อไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่อยู่โดยรอบ เช่น กระทรวง โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย/ทดสอบ ฯลฯ จะส่งเสริมให้ SPACE-F เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยภายใต้พื้นที่อำนวยความสะดวกกว่า 1,000 ตารางเมตร ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่สำหรับทำงานร่วมกัน สำนักงานชั่วคราว ห้องประชุม และห้องปฏิบัติการสำหรับการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมอาหาร จะมีการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามความจำเป็นและความต้องการของสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาใช้บริการพื้นที่ รวมทั้งหลักสูตร บุคลากร และการสนับสนุนทรัพยากรด้านการเงินก็จะถูกรวบรวมไว้ที่นี่อย่างครบครัน

ภาพถ่าย : นายเทพทัต คุ้มสังข์
เขียนข่าว: นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ตรวจสอบโดย ดร.ณภัศศรณ์ ปัญญาสุข
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวเฉิดฉันทร์ ราชบุรณะ