คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก และ Hornbill International จัดกิจกรรมวันรักนกเงือก: Hornbill…คู่รักแท้ สร้างจิตสำนึกของคนในชาติให้ตระหนักในการรักษาธรรมชาติและรณรงค์การดูแลรักษานกเงือกให้อยู่คู่ป่าของประเทศไทย ในวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ บริเวณสวนนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมคิด อมรสมานกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวเปิดงาน และ ดร.วรพัฒน์ อรรถยุกติ ประธานมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก กล่าวรายงานการดำเนินงานของมูลนิธิฯ
สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการจัดนิทรรศการ "วันรักนกเงือก" จากมูลนิธิและชมรมต่างๆ รวมถึง นิทรรศการเรื่องการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์นกเงือกในป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 อ.เบตง จ.ยะลา และนิทรรศการความก้าวหน้าของงานวิจัยใน มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมวาดภาพ ระบายสี อตั กับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กิจกรรมสื่อธรรมชาติจากกลุ่มใบไม้ และมีการเปิดจำหน่ายเสื้อ T-Shirt Limited edition ในคอนเซปท์ "เสื้อคู่รัก" จากภาพต้นแบบผลงาน "ครูเป้ สีน้ำ" (อรรณพ) นักดนตรี กวี นักร้อง และคนทำงานศิลปะ ภายในงาน จำนวน 26 ตัว หรือสำหรับ "คู่รัก" 13 คู่ เพื่อนำรายได้สนับสนุน "มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก" อีกด้วย ด้านกิจกรรมบนเวที ดร.วรพัฒน์ อรรถยุกติ ประธานมูลนิธิฯ มอบถ้วยรางวัล จากการเตะฟุตบอลการกุศล Hornbill Charity Project 2019 ต่อด้วยการเสวนาพูดคุยในหัวข้อ "ปันรัก...ให้นกเงือก" โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ คุณนิรมล เมธีสุวกุล พิธีกรจากรายการทุ่งแสงตะวัน คุณชยพล ศรศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัทสยามไวเนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด และคุณพิมพ์ใจ ดวงเนตร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืน ซิกเซนส์ยาวน้อยรีสอร์ท และคุณภาคภูมิ ประทุมเจริญ ดำเนินการเสวนา ปิดท้ายด้วยบรรยากาศสนุกสนานกับคอนเสิร์ตจากศิลปิน เป้ สีน้ำ 25hours และวงสินเจริญบราเธอร์ ตลอดกิจกรรมทั้งช่วงเช้าและบ่ายมีผู้สนใจเข้าร่วมอย่างคึกคัก
มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อตั้งโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้ซึ่งริเริ่มโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขึ้นมาเพื่อทำการศึกษาวิจัยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในปี พศ. 2521 ก่อนจะขยายพื้นที่ศึกษาวิจัยออกไปในเขตผืนป่าภาคตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และภาคใต้ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ปัจจุบันได้มีการสำรวจการแพร่กระจายและสถานภาพของนกเงือกทั่วประเทศ และมีเครือข่ายศึกษาวิจัยร่วมกับหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) แห่งประเทศไทย คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปากร
ภาพถ่าย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช และ นายมานะ ไผ่มณี
เขียนข่าว: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : ดร.ณภัศศรณ์ ปัญญาสุข
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวนุชสรา บุญครอง