คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการตามรอยพระบาท 2 – 4 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยหลังจากเดินทางด้วยรถไฟมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ ชาวคณะวิทยาศาสตร์ได้เริ่มกิจกรรมในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการวันแรกด้วยการเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวที่ยอดดอยอินทนนท์ และสักการะพระธาตุนภเมธนีดลและนพพลภูมิสิริ ซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานีเกษตรหลวงดอยอินทนนท์ อันมีที่มาจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 9 ในการช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าม้งให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปลี่ยนจากการบุกรุกป่าไม้ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวโพด และฝิ่น มาทำเกษตรแบบถาวรตามเกษตรแผนใหม่ โดยเข้าเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ทั้งโรงเพาะกล้า (NURSERY) โรงผลิตพืชไร้ดิน (Hydroponics) ไปจนถึงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับ ที่ไม่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปได้ รวมทั้งโรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิน ซึ่งรวบรวมเฟินหายากไว้มากมายหลายชนิด ทั้งของไทย และต่างประเทศ ซึ่งบางชนิดใกล้สูญพันธุ์แล้ว เป็นโรงจัดแสดงเฟินที่มีความสำคัญทางด้านพืชสวนและเศรษฐกิจ ซึ่งมีประมาณ 50 สกุล 200 กว่าชนิด
ส่วนในวันที่สองของการสัมมนาเป็นกิจกรรมเสริมศักยภาพความเป็นทีม ณ ห้องประชุม โรงแรมคุ้มภูคำ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน เป็นผู้กล่าวเปิดกิจกรรม วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ มีทัศนคติที่ดีในการทำงานและการพัฒนาตนเอง รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความรัก และผูกพันระหว่างบุคลากรภายในองค์กร ต่อมาในช่วงค่ำเข้าสู่ช่วงงานเลี้ยงสังสรรค์ ในธีมงานความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีการแสดงของภาควิชาและส่วนงานต่างๆ ภายใต้บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และในวันสุดท้ายของการสัมมนาหลังจากที่ชาวคณะวิทยาศาสตร์พักผ่อนตามอัธยาศัยแล้ว จึงมานมัสการพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ต่อด้วยพระบรมราชานุสวรีย์สามกษัตริย์ ณ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยสวัสดิภาพ โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมจำนวน 264 คน
ถ่ายภาพ : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช, นายมานะ ไผ่มณี
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร