logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2561

 

Nobel Laureate Lecture “My Journey to Stockholm” เส้นทางสู่รางวัล Nobel

ในโอกาสแห่งการครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพต้อนรับ ศาสตราจารย์ ดร.เซอร์ เจมส์ เฟรเซอร์ สตอดดาร์ต (Professor Sir James Fraser Stoddart) หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2016 ในการบรรยาย Nobel Laureate Lecture หัวข้อ “My Journey to Stockholm” เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ ในวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13.30 – 15.30 น. ณ อาคารบรรยายรวม ห้อง L-01 คณะวิทยาศาสตร์ พญาไท

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวรายงานกิจกรรมปาฐกถา Nobel Laureate ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติเนื่องในโอกาสฉลอง 60 ปี แห่งการสถาปนา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และถือได้ว่าเป็นโอกาสพิเศษที่สำคัญอย่างยิ่งของคณะที่ได้ต้อนรับศาสตราจารย์ ดร.เซอร์ เจมส์ เฟรเซอร์ สตอดดาร์ต นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2016 ถือเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆในด้านการศึกษาและการวิจัย อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์ให้มีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นท่านยังได้กล่าวถึงรายละเอียดการจัดงานในช่วงเช้า คืองาน “Dialogue with Nobel Laureate” ซี่งเป็นการสนทนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่มีโอกาสได้พูดคุยอย่างใกล้ชิดกับผู้ได้รับรางวัลโนเบล และในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ เป็นการปาฐกถาโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลเรื่อง “My Journey to Stockholm” เส้นทางสู่ความสำเร็จในการก้าวสู่รางวัลโนเบล ให้แก่นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย ภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจ นอกจากนี้ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้กล่าวต้อนรับและกล่าวขอบคุณการมาเยือนของศาสตราจารย์ ดร.เซอร์ เจมส์ เฟรเซอร์ สตอดดาร์ต โดยมีใจความสำคัญว่า “ในการปฏิรูปการศึกษานั้น บัณฑิตต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมกับความต้องการของสังคม และอาจารย์ที่ดีต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนในการเปลี่ยนแปลงอนาคตของตนเองให้ดีขึ้นได้อย่างมั่นคงและถาวร ซึ่งการมาเยือนของศาสตราจารย์ ดร.เซอร์ เจมส์ เฟรเซอร์ สตอดดาร์ต ในครั้งนี้เชื่อว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จในการก้าวสู่รางวัลโนเบลในอนาคตได้เป็นอย่างดี”

หลังจากนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ที่ปรึกษานายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้กล่าวแนะนำองค์ปาฐก ศาสตราจารย์ เซอร์ เจมส์ เฟรเซอร์ สตอดดาร์ต นักเคมีชาวสกอตแลนด์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในการบุกเบิกการพัฒนาออกแบบและสังเคราะห์เครื่องจักรที่มีขนาดเล็กระดับโมเลกุล โดยเริ่มจากการออกแบบและสังเคราะห์ “โรแทกเซน” (rotaxane) ซึ่งประกอบด้วย โมเลกุลรูปวงแหวนที่ร้อยกับโมเลกุลแกน และควบคุมให้วงแหวนเคลื่อนที่ไปมาตามแนวโมเลกุลแกนได้ด้วยปฏิกิริยาเคมีหรือการให้พลังงานรูปแบบต่างๆ จากจุดเริ่มนี้ ทำให้เกิดการพัฒนาเครื่องจักรขนาดจิ๋ว ที่สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างลิฟต์ระดับโมเลกุล จำลองการทำงานของกล้ามเนื้อในระดับโมเลกุล หรือการสร้างชิปคอมพิวเตอร์ที่มีโมเลกุลเป็นฐาน ด้วยความสำเร็จในการค้นพบอันยิ่งใหญ่ที่เกี่ยวกับการออกแบบและการสังเคราะห์เครื่องจักรระดับโมเลกุลนี้ ศาสตราจารย์ เซอร์ เจมส์ เฟรเซอร์ สตอดดาร์ต ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2016 ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อีก 2 ท่าน คือ Professor Jean-Pierre Sauvage และ Professor Bernard L. Feringa

การออกแบบและสังเคราะห์เครื่องจักรระดับโมเลกุลนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายและความท้าทายของนักวิทยาศาสตร์ที่เล็งเห็นประโยชน์ในการนำเครื่องจักรกลขนาดจิ๋วนี้ไปใช้เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์และเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสร้างรถระดับโมกุลที่สามารถขนส่งยาไปสู่เป้าหมายของการรักษาโรค การสร้างมอเตอร์ หรือ เกียร์ระดับโมเลกุล การสร้างชิปคอมพิวเตอร์ระดับนาโน เป็นต้น การไปสู่เป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชาเพื่อศึกษาโครงสร้างในระดับโมเลกุล การเรียนรู้ปฏิกิริยาทางเคมีเพื่อสร้างโมเลกุลที่มีโครงสร้างตามต้องการ เข้าใจการจัดเรียงตัวและการยึดโยงกันระหว่างโมเลกุลด้วยแรงยึดเหนี่ยวที่มีขนาดและทิศทางที่จำเพาะเจาะจง สามารถเหนี่ยวนำให้โมเลกุลประกอบตัวกันเองให้เป็นโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และสามารถออกแบบและสังเคราะห์โมเลกุลให้มีโครงสร้างและการทำงานที่เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างเครื่องจักรกลขนาดจิ๋วที่สามารถทำงานได้ในที่สุด ภายหลังปาฐกา องค์ปาฐกและคณะผู้จัดงานได้มีการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนและถ่ายภาพร่วมกัน

 

ถ่ายภาพ : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เขียนข่าว : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร