logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2553

 

ดนตรี – วิทยาฯ สู่สุนทรียะในมุมมองนักวิทย์

เมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 13.30 น. ชมรมดนตรีสบายสบาย ร่วมกับสโมสรนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนาดนตรี ในหัวข้อ "ดนตรี-วิทยาฯ สุนทรียศาสตร์ในมุมมองนักวิทย์" ณ ห้องบรรยาย L-03 อาคารบรรยายรวม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

ผศ. ขวัญ อารายะธนิกุล รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน จากนั้นเป็นการแสดงดนตรีของนักศึกษาในชมรมดนตรีสบายสบาย กับเพลงสีน้ำเงิน และเพลงคอนแชร์โตหมายเลข 1 ของวิวัลดิ เริ่มเปิดเวทีเสวนาด้วยนักวิทยาศาสตร์อย่าง รศ. ดร. ภิญโญ พานิชพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มาเล่าขานถึงคุณภาพของเสียงดนตรี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก และมีส่วนช่วยให้คนฟังมีอารมณ์คล้อยตามได้ ต่อด้วย รศ. ดร. นัยพินิจ คชภักดี อุปนายกสามคมประสาทวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และอดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยชีววิทยาระบบประสาทและพฤติกรรม ม.มหิดล อาจารย์เล่าขานถึงงานวิจัยที่สนับสนุนเรื่องดนตรีว่า "สามารถช่วยจัดและขัดเกลาอารมณ์เด็ก ๆ ให้อยู่ในสมาธิ ช่วยให้เขามีอารมณ์สุนทรีย์ ไม่มุทะลุ มีอารมณ์ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้เพลงบำบัดเด็กสมาธิสั้น เด็กออทิสติก ได้ด้วย" ต่อด้วย นายกฤษติ์ บูรณวิทยวุฒิ รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับอาจารย์กฤษติ์ บอกว่า "เรื่องของดนตรีไม่มีทฤษฎีตายตัวแน่นอน อารมณ์มีส่วนรังสรรค์ดนตรี และดนตรีมีแง่มุมมากมาย ก่อเกิดจินตนาการ ไม่มีกฎตายตัว ทำให้คนคล้อยตามได้ แต่ถ้าเพลงประเภทไหนที่หลายคนบอกว่า ฟังยาก ต้องปีนบันไดฟัง แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เพราะ พวกเราก็น่าที่จะปีนขึ้นไปฟัง" สุดท้าย พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง นักร้อง-นักดนตรี เล่าว่า "ผมไม่ใช่นักดนตรีแต่เป็นศิลปิน ผมใช้เครื่องดนตรีทำงานศิลปะ เป็นคนที่มีทักษะในด้านดนตรีน้อย ทุกครั้งที่เล่นดนตรีมีความลำบากมาก แต่เนื่องจากชอบและเวลาเล่นดนตรีต้องใช้ประสาทหลายส่วนซึ่งช่วยเรื่องความจำสั้นของผมได้ดี"