logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2563

 

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม MUSC Research Forum : Food & Agricultural Management Trends & Opportunities

ความร่วมมือในการวิจัย และให้คำแนะนำในการทำงานกับภาคเอกชน รวมถึงมุมมองต่อแนวโน้มและโอกาสในการทำงานวิจัย โดยนักวิจัยระดับแนวหน้าด้านอาหารและการเกษตร รองศาสตราจารย์ ดร.มานพ สุพรรณธริกา ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ รองศาสตราจารย์ ดร.กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ภาควิชาฟิสิกส์ และอาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฎฐวี เนียมศิริ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ กล่าวเปิดการเสวนา ในวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เวลา 13.30 -16.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล

ในการเสวนาครั้งนี้ วิทยากรทั้ง 4 ท่าน ได้บอกเล่าประสบการณ์วิจัยด้านอาหารและการเกษตรแบบเจาะลึกอย่างน่าสนใจ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.มานพ สุพรรณธริกา จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้มีประสบการณ์ทางด้านการวิจัยและพัฒนาอาหารเชิงหน้าที่ รวมถึงพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูประดับกึ่งอุตสาหกรรม ได้เล่าเกี่ยวกับ “Trend in functional food: Transition from laboratory to industry” เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับงานวิจัยเข้าสู่ระดับอุตสาหกรรมว่า ปัจจุบันภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรต่างหันมาให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการผลิตของเสีย (Zero waste) และยังคำนึงถึงผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงสายพันธุ์พืชและสมุนไพรหลายชนิด โดยใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิต ได้ถ่ายทอดข้อคิดและประสบการณ์ด้าน “Intensive agriculture for quality products and innovation” แบบเจาะลึกว่า ก่อนจะสร้างหรือบูรณาการการวิจัย สิ่งสำคัญคือการเข้าใจสิ่งนั้นอย่างลึกซึ้ง และนำมามองมุมใหม่ สำหรับการวิจัยเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์พืชต้องทำอย่างมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คิดอย่างรอบคอบ ใช้ทรัพยากรน้อยแต่ได้ประสิทธิภาพสูง และต้องสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ครัวเรือนเพื่อใช้ในการผลิตพืชและอาหารที่ดีได้ พร้อมแนะให้มองคำว่าภาคเอกชนให้กว้าง ตั้งแต่วิสาหกิจชุมชนในประเทศไปจนถึงต่างประเทศ และใส่ใจประชากรผู้สูงอายุเช่นกัน

ในส่วนของ “Digitization of Agriculture and Food System” นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ภาควิชาฟิสิกส์ ผู้เชี่ยวชาญในการนำ Nanotechnology และ Simulation โดยประยุกต์องค์ความรู้ทางฟิสิกส์มาใช้กับงานทางด้านชีววิทยา และนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ได้แบ่งปันมุมมองด้าน Technology management ด้านการเกษตรสมัยใหม่ และโอกาสที่กำลังจะเข้ามาท้าทายนักวิจัยว่า The food is the new internet อุตสาหกรรมอาหารจะเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างเฉพาะเจาะจง และขยายขอบเขตออกไปกว้างไกลมากขึ้น ทำให้การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการเพาะปลูกหรือการผลิตเพื่อตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มจะมีค่ามหาศาลในอนาคต

ทั้งหมดนี้ คณะวิทยาศาสตร์ เล็งเห็นถึงแนวโน้มและโอกาสในการวิจัยและพัฒนาด้านอาหารและการเกษตร ทั้งยังคำนึงถึงความสำคัญของการยกระดับงานวิจัยด้านอาหารและการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่ง อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และผู้อำนวยการ Excellent Center of Drug Discovery หรือ ECDD ได้กล่าวในหัวข้อ “ECDD, an Open Innovation Platform: Development of Thai Herbal Extracts as API” โดยเล่าว่า ศักยภาพของ ECDD ซึ่งได้มาตรฐานในระดับสากล สามารถส่งเสริมประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการวิจัยด้านการค้นหา และทดสอบกลไกการออกฤทธิ์หรือสารสำคัญต่าง ๆ ของอาหารเชิงหน้าที่ Functional ingredients หรือ Bioactive compounds ทั้งในเซลล์พืชและสัตว์ ช่วยให้ง่ายต่อการขอการรับรองมาตรฐานและสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น นอกจากนั้น คณะวิทยาศาสตร์ ยังพร้อมสนับสนุนการยกระดับการผลิตสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยมีโรงงานต้นแบบตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อีกด้วย

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

Activity Photo

ตรวจสอบโดย: อาจารย์ ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี
เขียนข่าว: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ภาพกิจกรรม: นางสาวสุภาวดี เพ็ชร์น้อย
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม