ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนาวิจัยและเทคโนโลยียาง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาคุณภาพยางล้อ และน้ำยางธรรมชาติ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษดา สุชีวะ หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง และ ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ เป็นผู้ลงนาม MOU ในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม SC2 – 220 อาคารวิทยาศาสตร์ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษดา สุชีวะ หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง เผยว่า เดิมทีศูนย์วิจัยเทคโนโลยียางเคยทำ MOU ร่วมกับ MTEC เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียางครั้งแรกในปี พ.ศ.2553 ซึ่งได้สิ้นสุดระยะเวลาไปแล้วในปัจจุบัน จึงได้มีการจัดพิธีลงนาม MOU ครั้งนี้ขึ้น เพื่อความต่อเนื่องในการวิจัยและพัฒนายางล้อ และน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งเป็นในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยในแต่ละปีอุตสาหกรรมยางล้อสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศกว่าปีล่ะ 100,000 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมนั้นสามารถสร้างรายได้กว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับกิจกรรมรองรับ MOU นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษดา ได้ชี้แจงว่าขณะนี้ทางศูนย์วิจัยเทคโนโลยียางมีแผนจะจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนายางล้อ เพื่อพัฒนาการออกแบบยางล้อซึ่งยังคงขาดการศึกษาวิจัยอยู่มาก โดยจะเชิญคณะวิศวกรรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และวิศวกรจาก MTEC จากมาร่วมด้วย
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ และทางคณะวิทยาศาสตร์นั้นตระหนักว่าสิ่งที่ศูนย์วิจัยและเทคโนโลยียางได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่การใช้งานอย่างแท้จริง ตรงตามนโยบายหลักของมหาวิทยาลัยมหิดล คือมุ่งสู่การเป็น University of Innovation โดยเน้นให้การเรียนการสอนการวิจัย ต้องสามารถนำไปสร้างนวัตกรรม และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
นอกจากนี้ ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ ได้กล่าวปิดท้ายว่าเรื่องยางว่าเป็นวาระสำคัญของประเทศ และยังคงมีปัญหาที่มีความซับซ้อน เชื่อว่าความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานจะสามารถร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางให้ได้รับการยอมรับ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดความสอดคล้องในการพัฒนาองค์ความรู้ ทั้งนี้ขอขอบคุณผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้ความอนุเคราะห์โอกาสในการร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย
ถ่ายภาพ : นายเทพทัต คุ้มสังข์
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวอริศรา เฉิดมนูเสถียร