ทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาชุดทดสอบโรคและความปลอดภัยทางอาหาร (ADDC) หัวหน้าโครงการพัฒนาชุดทดสอบ จับมือนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับบริษัท เซโนสติกส์ จำกัด สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติไทย หยิบองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ ผสานวิทยาศาสตร์การแพทย์ คิดค้นนวัตกรรมชุดตรวจ COVID-19 แบบใหม่ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสี หรือ RT LAMP ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิรามาธิบดี องค์การเภสัชกรรมและหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้โครงการ Top-down ของ BCG-Health กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (CEMB) อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกวิน น้าวัฒนไพบูลย์ หัวหน้านักวิจัย และกรรมการผู้จัดการบริษัท Zenostic จํากัด บริษัท Startup ภายใต้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ เผยประสิทธิภาพชุดตรวจว่า อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริง เนื่องจาก RT-LAMP เป็นเทคนิคการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสที่ได้รับการพัฒนาขึ้นให้มีความไวสูง ใช้เครื่องมือน้อย มีราคาถูกและใช้งานได้ง่ายกว่า RT-PCR ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งในห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไปจนถึงโรงพยาบาลชุมชน อีกทั้งมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยมีค่าความไว (Sensitivity) และค่าความจำเพาะ (Specificity) มากกว่า 95% และ 98% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ RT-PCR สามารถทราบผลภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง และยังมีต้นทุนราคาน้ำยาที่ถูกกว่า RT-PCR อย่างน้อย 2 เท่า ใช้อุปกรณ์ราคาถูกกว่า RT-PCR ถึง 5 เท่า ชุดตรวจ RT-LAMP จึงเหมาะสำหรับใช้ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากทั้งในเขตที่มีการระบาดในพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ และคัดกรองคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด
หลังจากที่สามารถพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์แล้วเสร็จตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมวิจัยก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงชุดตรวจคัดกรองจนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก่อนนำไปทดสอบกับตัวอย่างจริงที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กว่า 3,000 ตัวอย่าง และนำไปใช้ในการตรวจเฝ้าระวังค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 (Active search) ในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้ผลการตรวจเป็นที่น่าพึงพอใจ จึงวางแผนเตรียมส่งมอบชุดตรวจหาเชื้อไวรัส โควิด-19 ด้วยวิธี RT-LAMP จำนวน 20,000 ชุดแก่รัฐบาลใน phase ที่ 1 ของโครงการและอีกจำนวน 30,000 ชุดใน phase ที่ 2 เพื่อทำการสนับสนุนการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม (Active case finding) ขยายกำลังการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้รวดเร็วต่อไป
นอกจากนั้น ทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดียังได้มีการวิจัยเพื่อเปรียบเทียบผลการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ระหว่างการใช้ตัวอย่างน้ำลายและตัวอย่างจากโพรงจมูกและคอซึ่งเป็นตัวอย่างปกติที่ใช้ในการเก็บเพื่อส่งตรวจคัดกรองการติดเชื้อ โดยการเก็บตัวอย่างที่เป็นน้ำลายนั้นมีข้อดีคือเป็นวิธีการที่ง่าย ใช้อุปกรณ์ที่มีราคาถูกกว่า ไม่ต้องมีการทําหัตถการ อีกทั้งยังเป็นวิธีที่สามารถลดการกระจายของเชื้อจากผู้ติดเชื้อสู่เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่าง ผลการวิจัยเปรียบเทียบระหว่างการใช้ตัวอย่างเป็นน้ำลายและตัวอย่างจากโพรงจมูกและคอได้ค่าความไว (Sensitivity) และค่าความจําเพาะ (Specificity) มีค่ามากกว่า 85% และ 99% ตามลําดับ การเก็บตัวอย่างเป็นน้ำลายสามารถนํามาใช้เป็นข้อปฏิบัติในกรณีที่สถานพยาบาลมีข้อจํากัดในการเก็บตัวอย่าง เช่น อุปกรณ์ป้องกันในการเก็บตัวอย่างไม่เพียงพอ หรือสามารถนํามาใช้ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอย่างหนักและจําเป็นต้องมีการเก็บตัวอย่างปริมาณมากซึ่งจะทําให้สามารถตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วได้ ทั้งนี้ทีมวิจัยกําลังจะมีการทดสอบการใช้ตัวอย่างน้ำลายเพื่อการตรวจการติดเชื้อด้วยเทคโนโลยีแลมป์เปลี่ยนสีซึ่งอาจทําให้เพิ่มประสิทธิภาพรวมถึงความไวในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วขึ้นอีกด้วย
โดยในโอกาสอันดีนี้ นายแพทย์สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการกองสนับสนุนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมสุขภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกล่าวเปิดงานแถลงข่าวการคัดกรองผู้ติดเชื้อด้วยตัวอย่างน้ำลายและชุดทดสอบแบบเร็วด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสี และแสดงความยินดีกับทีมนักวิจัย ในวันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2563 ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 อาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย: นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพกิจกรรม: งานสื่อสารองค์กรโรงพยาบาลรามาธิบดี, นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางอริศรา รักษ์ดำรงธรรม