logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2554

 

แถลงข่าวการจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 37
และ การจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8

วันนี้ (21 เมษายน 2554) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.พระรามที่ 6 พญาไท นายชินวรณ์  บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีแถลงข่าว การจัดกิจกรรมวิชาการระดับชาติ ได้แก่ การจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 37 และ การจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมบรรยากาศการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์  มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร  สวัสดิวัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ส.ว.ท.) ร่วมแถลงข่าวด้วย

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

นายชินวรณ์  บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมวิชาการระดับชาติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมบรรยากาศการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติ ว่า “รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายที่จะผลักดันโครงการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การพัฒนาขีดความสามารถทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทย เป็นปัญหาและความต้องการเร่งด่วนของประเทศ เห็นได้จากดัชนีบ่งชี้หลายประการ อาทิ จากผลคะแนนเฉลี่ยการสอบวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาของประเทศ ที่ยังไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน  สิ่งที่กระทรวงทำอยู่ในขณะนี้ก็คือ การพัฒนาการศึกษาสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เพื่อให้สนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ โดยส่งเสริมให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา เป็นหน่วยงานหลักที่จะบูรณาการองค์ความรู้ นอกจากนี้ยังได้มีการปรับแผนการดำเนินงาน โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ในเรื่องของ การปรับมูลค่าทุนการศึกษาในประเทศ ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว และอนุมัติในหลักการให้ปรับมูลค่าทุนการศึกษา ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้โดยอัตโนมัติ กรณีที่สำนักงาน ก.พ. ปรับบัญชีโครงสร้างเงินเดือนใหม่ และการปรับค่าใช้จ่ายสนับสนุนการจัดการศึกษานักเรียนทุน พสวท. ในประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของศูนย์โรงเรียนและศูนย์มหาวิทยาลัย การจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้สำหรับโครงงานวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์โรงเรียน ค่าใช้จ่ายสนับสนุนทุนวิจัยสำหรับบัณฑิต พสวท. แรกบรรจุ

ในการดำเนินการด้านยุทธศาสตร์การผลิต และพัฒนากำลังคนดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองในปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มาช่วยในการจัดการศึกษา สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินการให้ได้ผลนั้น  จะต้องจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต เพื่อให้ได้พลเมืองยุคใหม่ ด้วยการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยเน้น 3 หลัก คือ 1. หลักคุณภาพ 2. หลักโอกาสและความเสมอภาค  และ 3. หลักของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเชื่อมโยงบทบาทสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดของกระทรวงฯ และเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เป็นองค์กรสำคัญแห่งหนึ่ง ที่ช่วยขับเคลื่อนสนับสนุนนโยบายดังกล่าว เห็นได้จากผลการดำเนินงานหลัก และกิจกรรมต่างๆ ที่ทำมาโดยตลอด รวมถึงกิจกรรมในปีนี้ ที่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ การจัดค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ และร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 37

ศ. ดร. ศกรณ์  มงคลสุข คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยเพิ่มเติมถึง การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8 ว่า “การจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ เป็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์ประธานมูลนิธิ สอวน. ที่จะกระตุ้นให้เด็กไทยมีการพัฒนาการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์เทียบเท่าระดับสากล นับเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลแบบยั่งยืน   ในปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ด้วยทรงรับเป็นองค์ประธาน

สำหรับในปีพุทธศักราช 2554 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษา  7 รอบ 84 พรรษา  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาชีววิทยา ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา (มูลนิธิ สอวน.) ได้จัดการแข่งขันภายใต้ชื่อ “การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8” ในปีนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ในวันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 15.00 น. ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

โดยการแข่งขันในครั้งนี้ กำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 26 เมษายน–1 พฤษภาคม พุทธศักราช 2554 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 173 คน ประกอบด้วย คณะที่ปรึกษา  คณะกรรมการอำนวยการ และคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ จากมหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาช่วยงาน นักศึกษาพี่เลี้ยง คณาจารย์ ผู้แทนศูนย์ครูสังเกตการณ์ และนักเรียนจากศูนย์ สอวน.ชีววิทยาทั่วประเทศจำนวน 13 ศูนย์   โดยมีการสอบทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ อย่างละ 3 ชั่วโมง ประมวลผลการแข่งขันโดยคณะกรรมการวิชาการ  จากนั้นจึงคัดเลือกนักเรียนเข้ารับรางวัลระดับดีเยี่ยม ดีมาก ดี และเกียรติคุณประกาศ คล้ายกับการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ ในจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 131 คน จะมีนักเรียนจำนวน 60 คน ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าค่ายอบรมชีววิทยาโอลิมปิกของ สสวท. ต่อไป โดยพิจารณาจากสัดส่วนดังนี้ นักเรียนจาก สอวน.ค่าย 2 พุทธศักราช 2554 จำนวน 15 คน จากการแข่งขันระดับชาติ พุทธศักราช 2553 จำนวน 15 คน และจากนักเรียนที่เหลือทั้งหมดอีก 30 คน

นอกจากกิจกรรมค่ายชีววิทยาโอลิมปิกแล้ว ภายในงานยังได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานโครงการต่างๆ รวมทั้งโครงการในพระราชดำริ ที่ได้นำศาสตร์ทางชีววิทยามาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อ คุณภาพชีวิตมนุษย์ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มาจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ความรู้ อีกทั้งยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรโดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะในด้านการพัฒนา โดยทรงใช้พระปรีชาสามารถทุกด้านของพระองค์ท่าน รวมทั้งทางด้านชีววิทยา เพื่อดำเนินการมุ่งพัฒนาช่วยเหลือประชาชน ทำให้ผลของการพัฒนาอันสืบเนื่องมาจากโครงการพระราชดำรินั้น มีผลต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างอเนกอนันต์
เนื่องในปีมหามงคลนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการเป็นเจ้าภาพจัดค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ และจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 37 ในระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2554

ทั้งนี้ ศ. ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร  สวัสดิวัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (ส.ว.ท.) ได้กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 37 ในครั้งนี้ว่า “เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐฯ ที่ต้องการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ในทุกปีทางสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัดงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วทท. ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ และคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในภูมิภาค ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 37 แล้วซึ่งนับว่ายาวนานและต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยในปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2554 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะเจ้าภาพร่วม ภายใต้แนวความคิดว่า “วิทยาศาสตร์สร้างสรรค์ เพื่อสรรค์สร้างอนาคต” ซึ่งงานในปีนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นการจัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา

การจัดงานในครั้งนี้จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนของการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ส่วนของการจัดสัมมนาวิชาการ ซึ่งประกอบด้วย การจัดบรรยาย การปาฐกถาพิเศษโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และวิทยากรรับเชิญมากมายทั้งในและต่างประเทศ การจัดแสดง โปสเตอร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวม 16 สาขา ซึ่งขณะนี้กำลังเปิดให้ลงทะเบียนผลงานที่ต้องนำเสนอ ส่วนของการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ เทคโนโลยีความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากบริษัทเอกชนผู้นำด้านนวัตกรรมที่มีชื่อเสียง สถาบันการศึกษา และองค์กรต่างๆที่จะนำผลงานมาจัดแสดง โดยคาดว่าจะมีจำนวนกว่า 50 บริษัท และคาดว่าในปีนี้จะมีผู้สนใจและเข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นเวทีระดับชาติ ที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจได้แลกเปลี่ยนความรู้ และแสดงผลงานความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ยังได้จัดกิจกรรมคู่ขนานคือ “ค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ” โดยสมาคมฯ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเวทีการประกวดระดับชาติสำหรับเยาวชนกว่า 320 คน ทั่วประเทศ มีกิจกรรมากมาย ได้แก่ การประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม โครงงานวิทยาศาสตร์ การแข่งขันตอบปัญหา แข่งวาดภาพตามจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น และในปีนี้งานวทท. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน ในวันเปิดงานคือวันที่ 10 ตุลาคม 2554 นี้”