วันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2553 เวลา 07.00 น. ณ อาคารสตางค์ มงคลสุข ศ.ศกรณ์ มงคลสุข คณบดี พร้อมผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมพิธีทำบุญ เปิดอาคารสตางค์ มงคลสุข และในเวลา 13.30 น. ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ให้เกียรติมาเป็นประธาน เปิดแพรคลุมป้ายชื่ออาคารสตางค์ มงคลสุขและเป็นประธานเปิดการบรรยายพิเศษโดยนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล เรื่อง "Future challenges in HIV/AIDS prevention and therapy" ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
Professors Françoise Barré-Sinoussi ได้รับรางวัลโนเบล เมื่อปี 2551 ในสาขา การแพทย์ ร่วมกับ Prof. Luc Montagnier จากผลงานการค้นพบไวรัสที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของคนบกพร่อง หรือ human immunodeficiency virus (HIV) ซึ่งในการมาเยือนประเทศไทย เพื่อบรรยายพิเศษครั้งนี้ เป็นโครงการความร่วมมือ ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับ มูลนิธิสันติภาพนานาชาติ เพื่อให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เยาวชนและนักวิชาการของประเทศไทย
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1981 เมื่อมีรายงานจากประเทศสหรัฐอเมริกาว่าพบผู้ป่วยโรคปอดบวมในผู้ชายรักร่วมเพศหลายราย หลังจากนั้น ได้พบผู้ป่วยอาการเดียวกันนี้อีกหลายรายในฝรั่งเศส จึงได้ตั้งชื่อเรียกอาการดังกล่าวนี้ว่าโรคเอดส์ (AIDS, Acquired Immune Deficiency Syndrome) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญ บรรดานักวิจัยจากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง retrovirologist, epidemiologist, และแพทย์ จึงระดมพลร่วมมือกันทำการศึกษาสาเหตุของโรคเอดส์นี้ จนกระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1983 ได้มีผลงานการตีพิมพ์โดยทีมงานของศาสตราจารย์ฟรังซัวส์ในนิตยสาร Science รายงานว่า สาเหตุของโรคเอดส์เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด retrovirus ที่ไม่เคยพบในคนมาก่อน ซึ่งในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อว่า HIV (Human Immunodeficiency Virus)
ในเวลาต่อมา ความร่วมมือกันศึกษาไวรัสชนิดนี้ ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้มากขึ้น จนในที่สุด ทีมงานจึงสามารถคิดค้นพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อไวรัส HIV ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และได้มีการพัฒนายาต้านไวรัสอีกหลายชนิด นอกจากได้รับความร่วมมือจากบรรดานักวิจัย ยังได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและสถาบันนานาชาติต่างๆ อีกด้วย ทำให้มีความก้าวหน้าอย่างมากทั่วโลกในการรณรงค์เพื่อต่อสู้โรคเอดส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการเข้าถึงต่อการเข้ารับการรักษาโรคเอดส์ด้วยยาต้านไวรัส (antiretroviral treatment หรือ ART) ในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด หลังจากการค้นพบสาเหตุของไวรัสโรคเอดส์มากว่า 25 ปี การวิจัยในปัจจุบันยังคงเน้นไปที่การดูแลรักษาผู้ป่วยและการป้องกันการติดเชื้อ โดยมีเป้าหมายหลักคือการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ที่มีประสิทธิภาพ
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดจากการติดเชื้อไวรัส HIV การสนับสนุนเรื่องการป้องกันในทุกๆด้านจึงยังคงมีความสำคัญ เช่น การรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย การแนะนำให้สตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัส HIV เข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งสามารถช่วยลดการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่บุตร และในอนาคต การขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศชายอาจได้รับการพิจารณาให้เป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติสำหรับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสในเพศชาย
ในปัจจุบัน ความเคลื่อนไหวของทุกฝ่ายในการต่อสู้โรคเอดส์ยังคงมีอยู่ ความร่วมมือกันทั่วโลกในการต่อสู้ต่อโรค HIV/เอดส์ จะสำเร็จมิได้ ถ้าไม่มีการพัฒนาทางด้านสิทธิมนุษยชน ในเวลาที่มีแต่ความไม่แน่นอนนี้ ในขณะที่งบประมาณสำหรับโปรแกรมการรักษาโรคเอดส์ในประเทศที่กำลังพัฒนากำลังถูกคุกคามด้วยวิกฤตของเศรษฐกิจโลก ผู้นำสถาบันนานาชาติและผู้ออกนโยบายทั้งหลายต้องรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ในปี 2005 ซึ่งคือ การเข้าถึงโปรแกรมการป้องกัน การรักษาและการดูแลผู้ติดเชื้อไวรัส HIV อย่างมีมาตรฐาน สุขภาพร่างกายที่ดีนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อสันติภาพ ความมั่นคงและการพัฒนาประเทศ ในโลกปัจจุบันนี้ เรื่องของสุขภาพอนามัยต้องได้รับการพิจารณาให้เป็นเรื่องที่ไม่มีข้อยกเว้น หรืออีกนัยหนึ่ง มนุษย์ทุกคนควรมีโอกาสในการเข้าถึงโปรแกรมการรักษาต่างๆที่มีอย่างเท่าเทียมกัน