ผมขอแสดงความยินดีและขอต้อนรับนักศึกษาใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์ ปีการศึกษา 2565 สู่รั้วมหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษารุ่นนี้ได้ผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กว่าครึ่งของประสบการณ์ในมัธยมปลาย ต้องปรับตัวเรียนรู้แบบออนไลน์ แบบผสมผสานนอกห้องเรียน เป็นการเปลี่ยนแบบฉับพลันที่ไม่เคยคาดคิด การเริ่มต้นชีวิตนักศึกษาใหม่ที่มหิดล ศาลายา จะเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ ท่ามกลางมิตรภาพใหม่ จะเป็นความทรงจำที่ประทับใจตลอดไป ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ได้เรียนรู้ เติบโตเป็นบุคลากรคุณภาพของสังคม
โรคระบาดที่มาอย่างรวดเร็ว ไร้ความปรานี ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ใช้ป้องกันและต่อสู้กับโรค ความเข้าใจชีววิทยาของเชื้อไวรัสโคโรนา นำไปสู่วิธีการตรวจหาเชื้อ การคัดกรองอย่างมีประสิทธิภาพ การวัดออกซิเจนอิ่มตัวในเลือดผ่านปลายนิ้วเมื่อป่วย การพัฒนายารักษา จนถึงการป้องกันโรคด้วยวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งแบบดั้งเดิม และวัคซีนชนิด mRNA ที่มีการใช้งานจริงเป็นครั้งแรกของมนุษยชาติ ระบบปัญญาประดิษฐ์ artificial intelligence และ machine learning ทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนไป ผมเชื่อว่าการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม จะนำไปสู่การสร้างโอกาส เพิ่มคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในอนาคต
ปี 2565 เป็นปีสากลแห่งวิทยาศาสตร์พื้นฐานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน International year of basic sciences for sustainable development ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องตระหนักว่า “วิทยาศาสตร์เป็นส่วนสำคัญของความยั่งยืนและการพัฒนาในทุกมิติ” มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศอย่างมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยคณาจารย์คุณภาพสูงระดับนานาชาติ มีวัฒนธรรมการวิจัยที่เข้มแข็ง เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียน จึงเป็นเรื่องน่ายินดีในความสำเร็จเบื้องต้นของนักศึกษาทุกคน ที่ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ผมหวังว่านักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ทุกคนจะใช้โอกาสนี้ ในการเรียนรู้ เติบโต ช่วยกันดูแลสังคมให้มีความยั่งยืน ด้วยปณิธานร่วมกันเพื่อ “เป็นสติของประชา เป็นปัญญาของสังคม”
จงใช้พลังกายพลังใจอันเต็มเปี่ยมของคนรุ่นใหม่ พากเพียร เรียนรู้จากอุปสรรค ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง มุ่งมั่นพัฒนาตนอย่างมีเป้าหมาย และขอจงมีความสำเร็จ อันจะเป็นประโยชน์แห่งตน เป็นความภูมิใจของครอบครัวและเป็นความภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
12 พฤษภาคม 2565