ดังที่ทราบกันดีว่าอุปกรณ์การแพทย์มีความสำคัญต่อระบบสุขภาพของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการพัฒนาประเทศโดยการส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมการแพทย์แบบครบวงจร หรือ Medical Hub นั้นจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากการเกิดโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ ทำให้ต้องนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์เพื่อให้เพียงพอในการรองรับบริการของผู้ป่วยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ จากการที่ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการอุปกรณ์ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีนอกเหนือไปจากอุปกรณ์การแพทย์เพื่อใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพทางกายอีกด้วย
อุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์ส่งเสริมสุขภาพ ในปัจจุบันมีการผลิตจากวัสดุประเภทพอลิเมอร์มากขึ้น ทั้งจากพลาสติกและยาง เนื่องจากวัตถุดิบมีน้ำหนักเบาและสามารถขึ้นรูปได้หลากหลาย รวมถึงสามารถดัดแปรและพัฒนาสมบัติให้ตรงตามความต้องการการใช้งานได้ง่ายทั้งในรูปแบบของพอลิเมอร์ผสมหรือคอมโพสิต รวมถึงสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีสมบัติจำเพาะอื่นร่วมด้วย อาทิ สมบัติการต้านแบคทีเรีย สมบัติการต้านจุลชีพ สมบัติทางไฟฟ้า เป็นต้น
งานวิจัยเพื่อพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์ส่งเสริมสุขภาพ จำเป็นต้องอาศัยการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีวัสดุ วิศวกร และบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น หน่วยวิจัยวัสดุและออกแบบสำหรับอุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมุ่งเน้นในการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยของนักวิชาการและนักวิจัยหลายศาสตร์เพื่อการพัฒนาการวิจัยด้านวัสดุและการออกแบบเพื่อให้เกิดนวัตกรรมอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์ส่งเสริมสุขภาพขึ้น
1. การออกแบบและจัดสร้างต้นแบบพนักพิงเพื่อใช้ในการตรวจประเมินความดันในหลอดเลือดดำที่คอผู้ป่วย ร่วมกับโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2. การพัฒนาวัสดุพอลิเมอร์เพื่อใช้สร้างฝีเย็บเทียมสำหรับหุ่นฝึกการทำคลอด ร่วมกับโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
3. การพัฒนาวัสดุเทอร์โมพลาสติกเพื่อใช้ผลิตอุปกรณ์ดาม โดยมีต้นทุนต่ำ ร่วมกับคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
4. การวิจัยพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์จากยางธรรมชาติ ร่วมกับ บริษัท Kokoku Innovative Technology จำกัด ประเทศญี่ปุ่น
ศาสตราจารย์กัลยาณี สิริสิงห ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
รองศาสตราจารย์อทิตยา ศิริภิญญานนท์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
รองศาสตราจารย์พันธ์ญา สุนินทบูรณ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
รองศาสตราจารย์ชาคริต สิริสิงห ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์
รองศาสตราจารย์สุภา วิรเศรษฐ์ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤษฎา สุชีวะ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์
หัวหน้าหน่วยวิจัย
ที่ปรึกษา