logo

Mahidol Science Environment & Sustainability Award

อาจารย์ประสาน แสงไพบูลย์

สถานที่ทำงาน ค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ ตำแหน่งปัจจุบัน ประธานมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์

รายละเอียดประวัติการทำงาน

2547-ปัจจุบัน ตำแหน่ง ประธานมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์
2562-2564 ตำแหน่ง ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
2559-2562 ตำแหน่ง คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม ประมงชายฝั่ง จังหวัดระยอง
2556-2560 ตำแหน่ง รองคณะบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
2548-2552 ตำแหน่ง รองคณะบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
2547 ตำแหน่ง อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
2539 ตำแหน่ง อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี
2525 ตำแหน่ง อาจารย์ ๑ โรงเรียนพลูตาหลวงวิทยา จังหวัดชลบุรี

รางวัลที่ได้รับหรือความสำเร็จที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ

2533 ครูดีศรีเมืองชล
2534 คนดีศรีเมืองชล
2559 เพชรรำไพ
2551 ข้าราชการพลเรือนดีเด่น
2562 ครูดีศรีจันทบูร

รายละเอียด และจุดเด่นของผลงาน

ผมเติบโตและมองเห็นความเป็นไปของท้องทะเลตั้งแต่เป็นเด็ก วันวานที่ผ่านมากว่า 50 ปี คงไม่มีให้เห็น อีกแล้วในวันนี้ ผมรักวิทยาศาสตร์เพราะทำให้เข้าใจธรรมชาติเห็นคุณค่าธรรมชาติที่กำลังสูญเสียไป มีจิตนาการมากมาย ที่จะเรียนรู้ ปกป้องธรรมชาติที่เรารัก และอยากให้คนอื่นเห็นเข้าใจและรัก เหมือนที่เรารัก อยากอธิบายให้คนเข้าใจธรรมชาติ จึงตั้งใจอยากเป็นครู ผมจบจาก กศบ.ชีววิทยา-วิทยาศาสตร์ทางทะเล จาก มศว.บางแสน บรรจุรับราชการครั้งแรกที่โรงเรียน พลูตาหลวงวิทยา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ผมใช้เวลาวันหยุดออกไปทะเลกับผู้ปกครองของนักเรียน ทั้งประมงชายฝั่ง เรืออวนลาก เรือไดร์หมึก-ปลากระตัก ผมเสียดายการทำประมงที่ทำลายล้างหลายอย่างที่เราไม่รู้ เช่นการใช้อวนลากทำลายแหล่งสัตว์หน้าดิน จับสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กและแม่ปูที่มีไข่เต็มท้อง เห็นการเบื่อปลา ระเบิดปลา โดยไม่รู้ว่าเขาได้ทำลายอะไร เพราะบอกว่ามันคืออาชีพ ผมคิดว่าครูอย่างเราคงเปลี่ยนรุ่นนี้ไม่ได้ แต่จะเปลี่ยนได้คือลูกหลานที่มาเรียนอยู่กับเรา ผมรู้ว่าวิชาวิทยาศาสตร์จะเป็นศาสตร์ที่เปลี่ยนเด็กเหล่านี้ได้ แต่จะจัดการเรียนการสอนและแทรกกิจกรรมอย่างไร คือสิ่งที่ท้าทาย จากที่ผมรักธรรมชาติ เพราะผมได้เห็น ได้สัมผัส ผมเริ่มใช้ธรรมชาติ บริเวณเขาหลังโรงเรียน อ่างเก็บน้ำ จัดตั้งชุมนุมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ ในปี 2531 ใช้เวลาเช้าเย็น ขับรถรับนักเรียน หาเงินซื้อหน้ากาก ชูชีพ ตีนกบ มาฝึกสมาชิก ม.1 รุ่นแรก จำนวน 29 คน มีรถรับนักเรียน ไปฝึกดำน้ำที่ชายฝั่งแสมสาร นักเรียนดำน้ำดูขยะใต้ถุนสะพาน ขยะลอยเต็มทะเลจากการทิ้งของชาวบ้าน แต่วันหนึ่งที่ผมพานักเรียนว่ายน้ำข้ามช่องแสมสารไปยังเกาะแรด ดำน้ำชมแนวปะการังเกาะแรดและเกาะขาม ทำให้ได้เปลี่ยนความรู้สึกให้เด็กๆเข้าใจเป็นความรักหวงแหนผูกพันและเกิดเสียดายหากใครจะมาทำลาย

พลังของเด็กๆเหล่านี้ได้ขยายผลไปยังเด็กชายฝั่งสัตหีบ,บางเสร่,บ้านพลา,บ้านฉาง เป็นเคลือข่ายง่ายๆ และเริ่มขยายผลไปยังโรงเรียน,มหาวิยาลัย,องค์กรอื่นๆในรูปแบบค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ ตั้งแต่ปี 2531 จนถึงปัจจุบัน กว่า 3 แสนคน แต่จะสอนให้นักเรียนคิดแบบวิทยาศาสตร์ มีจินตนาการ ก็มาจาก สิ่งที่นักเรียนได้มองเห็นจากปัญหาการแตกหักและล้มจมทรายของปะการัง นำมาสู่การทดลองออกแบบตอหมุดสำหรับปลูกปะการังจนสำเร็จ และได้นำมาพัฒนาออกแบบเป็นแปลงปลูกปะการังรังด้วยท่อ PVC ทำเป็นธนาคารปะการังเพื่อการฟื้นฟูในปัจจุบัน ซึ่งมีการขยายผลไปยังพื้นที่ชายฝั่งทะเล ตะวันออกจนถึงเกาะกูด จังหวัดตราด ไปจนถึงเกาะทะลุจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากความสำเร็จการฟื้นฟูปะการังจึงจัดตั้ง มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยมีบริษัทวีนิไทย จำกัดมหาชน ให้การสนับสนุน โดยความร่วมมือกับ กองทัพเรือ,กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี,ชุมชนชายฝั่งในแต่ละพื้นที่ ขยายผลในพื้นที่แสมสารไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยอยู่ในรูปคณะกรรมการและมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการประจำเป็นเวลา 18 ปี เข้าสู่โครงการระยะที่ 3

แต่จะทำอย่างไรให้งานทั้งหลายยั่งยืน โดยต้องสร้างคนรุ่นต่อไป ผมจึงตัดสินใจฝากงานชิ้นนี้ไว้กับทีมงานคือ อ.ดำรงค์ สุภาษิต,อ.สุนันท์ พุทธภูมิ ดำเนินงานต่อ และโอนย้ายไปสร้างคนที่จะไปเป็นครู เป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อไป ไปสังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ในปี 2539 รับผิดชอบหลักสูตร คบ.วิทยาศาสตร์ทั่วไป คบ.ชีววิทยา วทบ.วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และได้รับมอบหมายดูแลพัฒนาพื้นที่ปกปักพันธุ์กรรมพืช จำนวน 49 ไร่ 3 งาน โดยได้ทำโซน ป่าบก ป่าชุ่มน้ำ และแหล่งน้ำทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ พื้นที่วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ จนกระทั่งเกษียณ

ในการสร้างบัณฑิตผมได้สอดแทรกความเป็นครูในกระบวนการเรียนรู้เพื่อเป็นแบบอย่างชีวิตการทำงานมีกิจกรรมภาคสนามในแหล่งเรียนรู้ เช่นแม่น้ำจันทบุรี ป่าชายเลน แนวปะการังชายฝั่งทะเล รู้จักออกแบบ กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ห้องเรียนธรรมชาติที่หลากหลายต่อไป

จุดเริ่มต้นหรือแรงบันดาลใจในการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม

ผลงานโครงการฟื้นฟูแนวปะการังและสร้างแหล่งเรียนรู้ จากปัญหาความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและเร็วขึ้น ส่งผลกระทบต่อมนุษย์เช่นกัน สาเหตุหลักๆมาจากมนุษย์ที่ขาดความรู้ความเข้าใจต่อธรรมชาติ ผลกระทบจาการใช้ประโยชน์ทางและทางอ้อมที่ขาดความรู้ทางวิชาการ ขาดสำนึกและความรับผิดชอบ จึงเป็นที่มาของการสร้างกิจกรรมและแหล่งเรียนรู้ เพื่อสร้างความรู้และจิตสำนึกต่อทรัพยากรธรรมชาติ เราตระหนักว่าการศึกษาและสร้างกิจกรรมที่ดีจะเป็นมรดกที่ส่งผลจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปในอนาคต สถาณะการณ์ธรรมชาติ ปัญหาและผลกระทบของแนวปะการังจะเป็นแนวทางที่สร้างความรู้ความเข้าใจ มองเห็นคุณค่าการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนได้ มีสำนึกรับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น จึงใช้เรื่องราวของปะการังมาเป็นสื่อเพื่อสร้างความรู้และเข้าใจไปยังธรรมชาติอื่นๆได้

ผมเชื่อว่าในพลังของการสร้างคนจากรุ่นสู่รุ่น ตัวเราสร้างเขาด้วยหัวใจ ยิ่งสร้างมากเท่าไหร่จะยิ่งขยายผลไปสู่สังคม เกิดเป็นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงในการใส่ใจบริหารจัดการทรัพยากร การใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ต่างๆ มีหน่วยงานองค์กรสนับสนุนและชุมชนท้องถิ่น ซึ่งผมได้นำมาสร้างเป็นงานกิจกรรมที่สืบเนื่องต่อกันดังนี้

- สร้างนวัตกรรมการฟื้นฟูปะการรังและสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบ จากธรรมชาติและมนุษย์

- สร้างนวัตกรรมการปลูกปะการังบนแปลง PVC เพื่อให้เป็นฐานผลิตกิ่งแม่พันธุ์ และกิ่งฟื้นฟูคืนสู่พื้นที่ และเป็นธนาคารปะการัง

- พัฒนาและแสวงหาความร่วมมือในการขับเคลื่อนนวัตกรรมฟื้นฟูปะการังของ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี กองทัพเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บริษัทวีนิไทย และชุมชน ขยายผลโครงการฟื้นฟูปะการังในพื้นที่ต่างๆเช่น
1. ชายฝั่งทะเลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
2. เกาะขาม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
3. เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
4. เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
5. เกาะกูด จังหวัดตราด
6. เกาะหมาก จังหวัดตราด
7.เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี

- พัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ในแนวปะการังเพื่อใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน ตั้งแต่การจัดเตรียมพื้นที่แนว ปะการัง วิธีใช้ประโยชน์ และการบำรุงดูแลรักษาในพื้นที่

- จัดตั้งค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2531-ปัจจุบัน มีนักเรียน นักศึกษา องค์กรภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องกว่า 300,00 คน

- พัฒนาพื้นที่ 50ไร่ กลางมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เข้าร่วมสนองพระราชดำริภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ให้เป็นพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชเป็นแหล่งเรียนรู้ ทางบก,ป่าพุ เส้นทางน้ำ ให้กับนักศึกษา นักเรียนและบุคคลโดยทั่วไป เป็นระยะเวลา 24 ปี


ปี 2565

ปี 2564