logo

Mahidol Science Environment & Sustainability Award

หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Forest Restoration Research Unit, Chiang Mai University - FORRU-CMU)

จัดตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537 โดยมี รศ.ดร.วิไลวรรณ อนุสารสุนทร และ Assoc. Prof. Dr. Stephen Elliott เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง โดยเป็นหน่วยวิจัยที่สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันสมาชิกหลักของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าเป็นคณาจารย์สังกัดภาควิชาชีววิทยา จำนวน 6 คน และสมาชิกอีกส่วนหนึ่งเป็นนักวิจัย เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา เจ้าหน้าที่เรือนเพาะชำซึ่งมีทั้งผู้ที่ทำงานเต็มเวลาและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา

FORRU-CMU จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายหลักในการศึกษาและพัฒนาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูป่าบนฟื้นฐานของวิทยาศาสตร์ และตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีทางหน่วยวิจัยฯได้พัฒนาวิธีการในการฟื้นฟูป่าที่มีประสิทธิภาพ สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมถึงได้เผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยต่างๆ ในรูปแบบของหนังสือ สื่อการเรียนรู้ และกิจกรรมที่หลากหลายให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่สนใจเกี่ยวกับการฟื้นฟูป่าทั้งในและต่างประเทศ

จุดเริ่มต้นหรือแรงบันดาลใจในการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม

จุดเริ่มต้นในการทำงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูป่าของหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Forest Restoration Research Unit, Chiang Mai University: FORRU-CMU) เริ่มขึ้นจาก “โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสครองราชปีที่ 50” ในช่วงปี 2537 ในเวลานั้นทั้ง NGO และ หน่วยงานภาครัฐ ต่างได้รับการเชิญชวนให้ดำเนินการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายโดยใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองการครองราชครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในตอนนั้นการปลูกป่าในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกไม้เพียงชนิดเดียว เช่น สน ยูคาลิปตัส หรือ สัก ในขณะที่เรากลับขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับการการปลูกและดูแลพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ไม้ป่าในประเทศไทยที่มีกว่า 2,000 ชนิดส่วนใหญ่ไม่เคยมีการผลิตกล้าไม้ในจำนวนมาก เนื่องจากไม้เหล่านั้นไม่ใช่ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2535 รศ.ดร.สตีเฟน และ เพื่อนของท่าน

ดร.เคท ฮาร์ทวิก เคยไดัรับการติดต่อให้ไปประเมินโครงการปลูกป่าของ “มูลนิธิธรรมนาถ” ใกล้ๆดอยอินทนนท์ โครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากพันธุ์ไม้ที่เลือกปลูกไม่เหมาะสมกับพื้นที่ หญ้าขึ้นปกคลุมกล้าไม้จนเติบโตไม่ได้ และกล้าไม้จำนวนมากเป็นโรคเชื้อรา นั่นทำให้ท่านทั้ง 2 ตระหนักถึงความจำเป็นในการทำให้โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯที่ทุกคนมีใจจะร่วมกันประสบความสำเร็จมากขึ้นโดยการเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศป่า เพื่อเร่งให้เกิดการสะสมมวลชีวภาพ ฟื้นฟูโครงสร้างป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ และบริการทางนิเวศของพื้นที่ จากแนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดแนวทางการวิจัยที่สำคัญ 4 ด้านที่จำเป็น ได้แก่ 1) การศึกษากลไกในการฟื้นตัวของป่า (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาชีพลักษณ์ในการสืบพันธุ์ของพืช) 2) ศึกษาวิธีการขยายพันธุ์และสร้างตารางการผลิตกล้าไม้ป่าหลากหลายชนิด (งานวิจัยในเรือนเพาะชำ) 3) การทดสอบในแปลงปลูกเพื่อเปรียบเทียบความสามารถของต้นไม้แต่ละชนิดและทดสอบวิธีการดูแลกล้าไม้ในแปลงปลูกแบบต่างๆ และ 4) การประชุมวิชาการที่จะเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ที่ทำงานด้านการฟื้นฟูป่าในที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ (ซึ่งการประชุมนี้ได้จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2543) ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดทิศทางการวิจัยที่จำเป็นในการพัฒนางานด้านการฟื้นฟูป่าได้ หลังจากความพยายามหลายปีในการหาทุนสนับสนุนในที่ปี พ.ศ. 2537 บริษัท Riche Monde Bangkok Ltd ได้ให้ทุนสนับสนุนในการสร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้สำหรับการวิจัยขึ้นบนพื้นที่ใกล้ๆ ที่ทำการของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และ หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (FORRU-CMU) ได้เริ่มงานอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537 โดยมีรศ.ดร.สตีเฟน และ รศ.ดร.วิไลวรรณ อนุสารสุนทร เป็นผู้ดูแลร่วมกัน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาชีพลักษณ์และการศึกษาวิจัยในเรือนเพาะชำเพื่อการเพาะขยายพันธุ์และผลิตกล้าไม้ป่า (https://www.forru.org/library/0000017)

รายละเอียด และจุดเด่นของผลงาน

ผลงานชิ้นสำคัญที่ได้จากการทำงานบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องได้แก่การพัฒนาวิธีการพรรณไม้โครงสร้าง (Framework Species Method) ซึ่งทำให้สามารถฟื้นฟูระบบนิเวศป่าเขตร้อนได้ในระยะเวลาอันสั้น : “Framework species method (FSM) หรือ วิธีการพรรณไม้โครงสร้างเป็นเทคนิคในการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าโดยการปลูกกล้าไม้ที่ความหนาแน่นสูงประมาณ 500 ต้นต่อไร่ บนพื้นที่ที่ถูกทำลายซึ่งอยู่ใกล้ป่าธรรมชาติ โดยเลือกปลูกกลุ่มของพันธุ์ไม้ที่แสดงถึงลักษณะของระบบนิเวศอ้างอิงและมีคุณลักษณะที่ช่วยเร่งให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงแทนที่ของระบบนิเวศ”

เมื่อ FORRU-CMU เริ่มก่อตั้งขึ้นประมาณ 30 ปีที่แล้ว การขาดองค์ความรู้ที่จำเป็นนับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การฟื้นฟูป่าไม่ประสบความสำเร็จ พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ที่เป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศที่หลากหลายของป่าในภาคเหนือของประเทศไทยไม่เคยได้ถูกเพาะและขยายพันธุ์ในเรือนเพาะชำ เราไม่ทราบว่าเมื่อไหร่ควรจะเก็บเมล็ด จะเพาะเมล็ดอย่างไร และจะผลิตกล้าให้โตพร้อมปลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้อย่างไร ในการทำงานภาคสนามข้อมูลเกี่ยวกับความหนาแน่นของกล้าไม้และจำนวนชนิดที่เหมาะ วิธีการดูแลกล้าไม้ในแปลงปลูก การติดตามการสะสมคาร์บอนและการกลับมาของความหลากลายทางชีวภาพล้วนแต่เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ศึกษา

วิธีการพรรณไม้โครงสร้าง (ปรับมาจากวิธีการที่ใช้ในรัฐควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย) เป็นกรอบแนวคิดที่สำคัญสำหรับโครงการวิจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยในช่วงแรกการทำงานจะเน้นการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม่ผลัดใบบนที่สูงในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่สาตอนบนในจังหวัดเชียงใหม่ พันธุ์ไม้ที่น่าจะมีศักยภาพในการเป็นพรรณไม้โครงสร้างได้ถูกคัดเลือกจากพันธุ์ไม้ท้องถิ่นหลากหลายชนิดของป่าไม่ผลัดใบที่อยู่ในพื้นที่ เรามองหาพันธุ์ไม้ที่มีอัตราการรอดตายและการเจริญเติบโตสูงถึงแม้จะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและแห้งของป่าที่ถูกทำลาย มีพุ่มที่กว้างและหนาเพื่อช่วยลดการเติบโตของวัชพืช และชนิดที่สามารถดึงดูดสัตว์ที่ช่วยกระจายเมล็ดให้เข้ามาในพื้นที่ได้ด้วยการสร้างประโยชน์ให้แก่สัตว์ป่าได้ตั้งแต่อายุยังน้อย (เช่น เป็นแหล่งอาหาร หรือ เป็นที่อาศัยและทำรังที่ปลอดภัย) โดยสมมติฐานที่สำคัญคือต้นไม้ที่ปลูกจะช่วยดึงดูดให้สัตว์นำเมล็ดจากป่าที่อยู่ใกล้เคียงเข้ามาในแปลงปลูก กล้าไม้ที่เกิดจากเมล็ดที่เข้ามาตามธรรมชาตินี้จะช่วยทำให้พลวัตและการเปลี่ยนแปลงแทนที่ของป่าธรรมชาติเกิดขึ้นได้ เร่งการสะสมมวลชีวภาพและการฟื้นตัวของโครงสร้างป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ (www.forru.org/th/library/0000170)

ในการศึกษาวิจัย FORRU-CMU ได้ทำงานร่วมกับ Mr. J. F. Maxwell นักพฤกษศาสตร์ทำให้พรรณไม้ส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในป่าไม่ผลัดใบของดอยสุเทพได้รับการระบุชนิด ส่งผลให้มีตัวอย่างพรรณไม้จำนวนมากที่เก็บรักษาไว้ในหอพรรณไม้ ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU-B Herbarium) รวมถึงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับลักษณะที่อาศัยและระดับความสูงที่พบต้นไม้แต่ละชนิดของพันธุ์ไม้กว่า 600 ชนิด การทดลองในเรือนเพาะชำทำให้เราทราบถึงวิธีการในการทำลายระยะพักตัวของเมล็ดรวมถึงการควบคุมการเติบโตของต้นกล้า ทำให้เราสามารถสร้าง “ตารางการผลิตกล้าไม้” สำหรับต้นไม้แต่ละชนิด และสามารถผลิตกล้าไม้ที่แข็งแรงสบูรณ์ได้ตรงตามระยะเวลาที่ต้องการ(www.forru.org/th/library/0000061, www.forru.org/th/library/0000022) โดยได้มีการศึกษาในพันธุ์ไม้มากกว่า 400 ชนิด

การทดลองในภาคสนามมุ่งเน้นที่จะประเมินว่าต้นไม้ชนิดไหนที่ควรใช้เป็นพรรณไม้โครงสร้าง วิธีการทางวนวัฒนวิทยาหลากหลายวิธีถูกนำมาทดสอบเพื่อดูว่าวิธีการใดที่จะทำให้การเติบโตของกล้าไม้ดีขึ้น (เช่น ระยะปลูก การกำจัดวัชพืชแบบต่างๆ การให้ปุ๋ย) ทำให้เราสามารถคัดเลือกพรรณไม้โครงสร้างที่เติบโตดี และ วิธีการทางวนวัฒนวิทยาที่เหมาะสม เพื่อให้กล้าไม้ที่ปลูกลงในแปลงมีอัตราการรอดตายสูงและเจริญเติบโตดี ซึ่งต้นไม้ที่ได้รับการคัดเลือกและวิธีการดูแลที่แนะนำนี้ทำให้ต้นไม้ในพื้นที่เติบโตจนปกคลุมพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี และความหลากหลายทางชีวภาพฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จำนวนชนิดของนกที่พบในพื้นที่เพิ่มขึ้นจาก 30 ชนิดเมื่อก่อนการฟื้นฟูเป็น 88 ชนิดหลังจากพื้นที่ได้รับการฟื้นฟูมา 6 ปี ซึ่งนั่นคิดเป็นประมาณ 54% ของนกที่เคยมีการสำรวจพบในพื้นที่ป่าที่อยู่ใกล้เคียง และนกเหล่านี้ได้นำเมล็ดพันธุ์ของพืชชนิดต่างๆเข้ามาในพื้นที่ จากการสำรวจแปลงฟื้นฟูพบว่าในเวลา 7-8 ปี มีกล้าไม้ที่เข้ามาเติบโตในพื้นที่เองโดยไม่ได้ปลูกถึง 73 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเมล็ดที่ถูกนำมาจากป่าใกล้เคียงโดยนก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนกปรอด) ค้างคาวกินผลไม้ และอีเห็น ความมากชนิดของไมคอไรซา ไลเคน และ ไบรโอไฟต์ ต่างกลับเข้ามาในพื้นที่ในเวลาไม่นานและหลายอย่างมีจำนวนมากกว่าที่พบในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ระบบแปลงฟื้นฟูป่าในระบบนิเวศป่าไม่ผลัดใบที่ปลูกต่อเนื่องกันทุกปีทำให้สามารถศึกษาว่าป่าที่ได้รับการฟื้นฟูสามารถช่วยลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยการช่วยกักเก็บคาร์บอนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจากการศึกษาพบว่าปริมาณคาร์บอนสุทธิที่ถูกเก็บลงในดินผ่านใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมา คาร์บอนอินทรีย์ที่สะสมในดิน และคาร์บอนที่กักเก็บไว้ในต้นไม้ส่วนที่อยู่เหนือดินเพิ่มขึ้นจนมีมีปริมาณที่ใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติได้ภายในระยะเวลา 14-16, 21.5 และ 16 ปี ตามลำดับ ซึ่งปริมาณคาร์บอนดังกล่าวถ้าสามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้จะมีมูลค่าของคาร์บอนที่เกิดขึ้นมากกว่าการปลูกข้าวโพด (เป็นต้นเหตุของการทำลายป่าและหมอกควันในภาคเหนือ) ถึงสามเท่า

จากสิ่งที่ FORRU-CMU ได้เรียนรู้จากการฟื้นฟูป่าไม่ผลัดใบบนพื้นที่สูงทำให้เราสามารถนำแนวทางที่คล้ายคลึงกันไปพัฒนาวิธีการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าผลัดใบในภาคเหนือ และ ป่าผลัดใบผสมไผ่ในจังหวัดกาญจนบุรี และ ป่าดิบที่ต่ำในพื้นที่จังหวัดกระบี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลงานวิจัยเกิดขึ้นเป็นพื้นฐานของการจัดกิจกรรมทางการศึกษาและการเผยแพร่ความรู้ของ FORRU-CMU เพื่อถ่ายทอดทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าให้แก่ผู้ที่สนใจซึ่งมีตั้งแต่นักเรียนและครูไปจนถึงนักวิชาการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทางหน่วยวิจัยฯ ได้จัดกิจกรรมให้แก่โรงเรียนหลายร้อยกิจกรรม จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้จัดตีพิมพ์คู่มือปฏิบัติสำหรับการฟื้นฟูป่าหลายเล่ม และสื่อการเรียนรู้ต่างๆ โดยจัดทำในหลายภาษา และเพื่อให้ระบบนิเวศและสังคมได้รับประโยชน์สูงสุดจากผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นทางหน่วยวิจัยจึงได้รวบรวมผลงานวิจัยต่างๆ ให้อยู่ในรูปสื่อออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งประกอบด้วย คำแนะนำทางเทคนิคสำหรับการฟื้นฟูป่า และ คู่มือพื้นฐานในการพัฒนาวิธีการฟื้นฟูป่า ที่จะทำให้นักวิจัยที่อยู่ในพื้นที่เขตร้อนทุกที่สามารถพัฒนาวิธีการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมสำหรับแต่สภาพแวดล้อมทางนิเวศและเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่แต่ละแห่งได้

ผลิตผลจากงานวิจัยและการทำงานด้านการศึกษาของ FORRRU-CMU มีส่วนใน SDG หลายข้อ ดังต่อไปนี้

SDG1 Poverty reduction – วิธีการฟื้นฟูป่าที่ FORRU-CMU ได้พัฒนาขึ้นทำให้ผลผลิตและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากป่าเพื่อใช้ภายในบ้านและค้าขายเพิ่มมากขึ้น นากจากนั้นยังรวมถึงการเพิ่มขึ้นของบริการทางนิเวศที่ช่วยสนับสนุนการเกษตรและการดำรงชีวิตทางเลือก (เช่น แหล่งต้นน้ำลำธาร การกักเก็บคาร์บอน และ ศักยภาพในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ)

SDG2 Zero hunger – ป่าที่ได้รับการฟื้นฟูสามารถทำหน้าที่เป็นตาข่ายนิรภัยที่ช่วยแก้ปัญหาในยามขาดแคลนหรือยากลำบาก

SDG3 Health & well-being - ป่าที่ได้รับการฟื้นฟูช่วยเพิ่มผลผลิตและความหลากหลายของสมุนไพรและส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของคนในพื้นที่

SDG4 Education – FORRU-CMU ได้ให้การศึกษาทางสิ่งแวดล้อมแก่เด็กๆ และ จัดการอบรมให้แก่ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูป่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 องค์ความรู้ต่างๆ ถูกถ่ายทอดผ่านกิจกรรมและการอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงการตีพิมพ์และเผยแพร่คู่มือปฏิบัติและสื่อการเรียนรู้ในภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

SDG5 Water – การฟื้นฟูป่าช่วยสร้างส่งเสริมให้เกิดการบริการของลุ่มน้ำซึ่งประกอบด้วยการป้องกันการเกิดภัยแล้ง/น้ำท่วม ลดการตกตะกอนและการพังทลายของดิน ในช่วงปี พ.ศ. 2559-2560 FORRU-CMU ได้ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนทางเทคนิคให้แก่โครงการต้นแบบ PES ที่ประเมินจากเรื่องของน้ำในจังหวัดเชียงใหม่

SDG10 Reduced inequalities – ในการสำรวจความคิดเห็นของชาวบ้านที่ FORRU-CMU จัดทำขึ้นแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านมากกว่า 80% เห็นด้วยว่าการทำงานร่วมกับหน่วยวิจัยฯในการฟื้นฟูป่าช่วยลดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านเกี่ยวกับทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ และ ปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานภายนอก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุทยานแห่งชาติ)

SDG13 Climate action – การศึกษาในพื้นที่แปลงฟื้นฟูป่าพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของเทคนิคการฟื้นฟูป่าของ FORRU-CMU ในการกักเก็บคาร์บอนทั้ง เหนือดิน และใต้ดิน รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ของคาร์บอนที่กักเก็บไว้ ซึ่งเป็นแรงจูงใจทางเศรษฐกิจในการบรรเทาความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

SDG15 Life on land – การศึกษาในพื้นที่แปลงฟื้นฟูป่าแสดงให้เห็นว่าวิธีการฟื้นฟูป่าที่ทาง FORRU-CMU ได้พัฒนาขึ้นช่วยเร่งการกลับคืนมาของความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งนกที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ พืชพื้นล่าง และ กล้าไม้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพลวัตของป่าที่ฟื้นกลับมา


ปี 2565

ปี 2564